ประสบการณ์(ภายใน) กับการวิปัสสนาที่โกเอ็นก้า 10 วัน

วิปัสสนาโกเอ็นก้า

“Start again, Start again with a calm and quiet mind. Alert and attentive mind …เริ่มต้นใหม่อีกครั้ง เริ่มต้นใหม่อีกครั้ง ด้วยใจที่สงบเงียบและตื่นตัวอยู่เสมอ” เสียงเริ่มต้นการปฏิบัติธรรมที่จะได้ยินตลอด 10 วันนี้ของท่านอาจารย์โกเอ็นก้า เมื่อทุกคนจะเริ่มนั่งในท่าทางที่ถนัดบนเบาะของตัวเอง ไฟกำลังสลัวลง เสียงสวดและคำสอนถูกเปิดขึ้น เป็นอันรู้กันว่าเรากำลังจะเริ่มต้นรับปัญญาจากการเรียนรู้ความจริงกันอีกครั้ง…

ในช่วงกลางเดือน ก.ย. ที่ผ่านมา ผมได้มีโอกาสที่ดีในการเข้าร่วมอบรมปฏิบัติธรรม หลักสูตรปฏิบัติวิปัสสนา 10 วันของท่านอาจารย์โกเอ็นก้า (Goenka) ที่ศูนย์ธรรมธานี จังหวัดกรุงเทพ นี่นับว่าเป็นครั้งแรกที่ได้สัมผัสการปฏิบัติธรรมอย่างจริงจังขนาดนี้ ที่ต่างไปคือที่นี่ไม่ใช่ที่แค่เฉพาะชาวพุทธ ทุกคนทุกศาสนาต่างมาที่นี่อย่างเต็มใจเพื่อจะศึกษาในวิชานี้ให้ลึกซึ้งขึ้น

“วิชาธรรมชาติ และ ศิลปะการขจัดทุกข์ด้วยปัญญา ผ่านวิธีการวิปัสสนา” ที่ทดลอง ค้นพบ และเผยแพร่ปัญญาที่เป็นความจริงของธรรมชาตินี้โดย องค์สมเด็จสัมมาสัมพุทธเจ้า สืบต่อกันมาเรื่อยๆ 2,500 กว่าปี จนในปัจจุบัน ท่านอาจารย์โกเอ็นก้า (Goenka) ชาวอินเดียที่เกิดในประเทศพม่า ที่ได้รับการสืบทอดแนวทางนี้มาจากท่านอาจารย์อูบาขิ่น จนเริ่มเปิดสอนวิชาที่ว่านี้ วิชาสากลอย่างธรรมะให้กับทุกๆคนทั่วโลก

ที่บอกว่าเป็นโอกาสที่ดีเพราะว่า วันนึงผมอ่านหนังสือดีๆอย่าง The Promise Keeper ของพี่นินอย (รัฐธีร์ มังคลรังษี) จนบทนึงที่ทำให้ผมได้เริ่มรู้จักกับโกเอ็นก้าเป็นครั้งแรกและตะลึงกับสิ่งที่พี่เขาได้รับ จากนั้นผ่านไปประมาณ 2-3 ปี เป็นช่วงที่ผมได้เริ่มปฏิบัติธรรมด้วยตัวเองผ่านการชักชวนจากเพื่อนรักของผม แฟรงค์ (วสุพล สุทัศนานนท์) ที่พาผมกลับเข้าธรรมะอีกครั้ง จนไม่กี่เดือนก่อนนี้พี่แอ๊ะ (ชาติฉกาจ ไวกวี) ศิลปินที่ผมติดตามผลงานได้เล่าประสบการณ์ผ่านการปฏิบัติที่นี่ผ่านเฟซบุ๊คของตัวเอง ประกอบกับเหตุการณ์ช่วงนั้นๆที่เหมือนจะดลใจให้ผมกรอกใบสมัครและผ่านรับเลือกเข้าหลักสูตรครั้งนี้ได้ จึงอยากขอบคุณเหตุปัจจัยและบุคคลที่ดีเหล่านี้ก่อนทุกสิ่งเลยครับ


… เอาล่ะ! อารัมภบทมาซะยืดยาว จริงๆก็แค่ต้องการบันทึกประสบการณ์ที่ตัวเองได้เจอและเรียนรู้มาแบบสดๆ เพราะนี่ถือว่าเป็น Timestamp สำคัญของชีวิตผมเองเช่นกัน

อ่านซักนิด ก่อนไปต่อ

  • ประสบการณ์ครั้งนี้เป็นประสบการณ์ภายในที่ต้องใช้การตีความ และ แต่ละคนที่ปฏิบัติก็อาจจะพบและเรียนรู้ในสิ่งที่ต่างกันก็ได้
  • ทั้งหมดนี้เล่าจากความทรงจำและความเข้าใจ เพราะกฏของที่นี่คือห้ามบันทึกหรือเขียนอะไรเลย
  • หลายส่วนในบทความนี้จะมีการใช้คำศัพท์ที่อ้างอิงกับธรรมะเยอะ ถ้าผู้อ่านไม่คุ้นเคยอาจจะต้องพยายามทำความเข้าใจเพิ่มขึ้นเล็กน้อย แต่จะพยายามแปลให้เสมอครับ
  • คำว่า ‘ปฏิบัติ’ ในบทความนี้จะหมายถึงการปฏิบัติธรรม ด้วยวิธีที่เราคุ้นเคยคือการนั่งสมาธิ และ นั่งวิปัสสนา ท่าทางเดียวกันต่างกันแค่วิธีการและจุดประสงค์เฉยๆ
  • ถ้าอ่านแล้วสนใจ อยากแนะนำให้ไปลงหลักสูตรเองดีกว่า (ฟรีหมด) ฝึกเองอาจจะสับสนและหลงทางได้ครับ
  • และด้วยกฏห้ามใช้มือถือโดยเด็ดขาด รูปทุกรูปคือถ่ายหลังจบหลักสูตรแล้วทั้งสิ้น

“วิปัสสนา หมายถึง การมองดูสิ่งต่างๆตามความเป็นจริง“

วันที่ 0 : เดินทางไปรับธรรม

การอบรบของผมเริ่มต้นวันที่ 7-18 ก.ย. 2022 ที่ศูนย์ธรรมธานี จริงๆแล้วศูนย์ปฏิบัติท่านโกเอ็นก้า มีหลายๆจังหวัดแต่ผมกะเอาสะดวกเลยเลือกที่กรุงเทพ แต่ความเป็นจริงก็ไม่ต่างกับการเดินทางไปต่างจังหวัดเลย ผมใช้บริการเกือบทุกประเภทขนส่งสาธารณะ ทำให้ 4 ชม. ที่ผมเตรียมไว้เผื่อถึงกับเอาไม่อยู่ ซึ่งถ้าเอารถมาเองได้ก็จะเป็นทางเลือกที่ดูสะดวกสุด

เวลา 6 โมง ในบรรยากาศเงียบสงบ เย็นสบาย อยู่ติดอ่างเก็บน้ำและแปลงนา เจ้าหน้าที่บอกให้ผมรีบลงทะเบียนศิษย์ใหม่เพื่อฝากของและมือถือไว้ก่อนที่จะเข้าห้องพักแล้วค่อยมารับคืนวันจบ เพราะกฏการเข้าอบรมที่นี่คือ ห้ามใช้มือถือ ห้ามพูด ห้ามโดนตัวไม่ว่าใครก็ตาม แบ่งชายหญิงตลอดเวลา สิ่งที่คุณควรทำเมื่ออยู่ที่นี่คือตรงเวลา และ ตั้งใจปฏิบัติธรรมเท่านั้น ซึ่งความเข็มงวดที่นี่นับว่าเป็นหนึ่งปัจจัยหลักที่ทำให้การปฏิบัติได้ผลเป็นอย่างยิ่ง แต่เดี๋ยวไว้เราค่อยมาพูดถึงกัน

ห้องพักขนาดกะทัดรัดประมาณ 2ม. x 2ม. ได้ คล้ายกับห้องญี่ปุ่นที่มีแค่เตียง(เบาะ) พัดลม เก้าอี้ ชั้นวาง และ ลวดแขวนเสื้อ พร้อมป้ายให้กันช่วยประหยัดไฟ ซึ่งความจริงแล้วห้องพักเป็นแอร์กลาง ที่จะเปิดเฉพาะเวลานอนและพักหลังข้าวเที่ยงเท่านั้น โชคดีหน่อยที่หน้าฝนนี้ทำให้อากาศในห้องยังพอสบายๆในช่วงบ่ายอยู่

หลังจากปฐมนิเทศและเลือกอาสนะเสร็จ (ที่นั่งสำหรับนั่งปฏิบัติธรรม) แล้วคืนอันแสนสั้นก็จบลงอย่างรวดเร็ว เพราะพวกเราทุกคนต้องนอนกันสามทุ่มเพื่อตื่นตีสี่ เพื่อเริ่มต้นหลักสูตรกันอย่างเต็มกำลัง

ห้องวิปัสสนาที่โกเอ็นก้า

วันที่ 1 : เริ่มต้นอย่างจริงจัง

เป๊ง! เป๊ง! เป๊ง!… เสียงระฆังปลุกตอนตีสี่ผ่านลำโพงสีขาว พาตัวทุกคนลุกจากที่นอนเพื่อมาเข้าห้องน้ำทำให้ตัวเองตื่น พร้อมรับกับการปฏิบัติธรรมอย่างจริงจังเปิดสติเป็นเวลา 2 ชม. ก่อนอาหารเช้า

การปฏิบัติเราได้รับคำสอนผ่านเทปเสียงท่านโกเอ็นก้า ซึ่งในช่วงแรกของในการฝึกฝนจะเน้นให้เกิด ‘สมาธิ’ ก่อน ด้วยวิธี ’อานาปานสติ’ หรือการสังเกตุลมหายใจเข้าออกอย่างที่มันเป็นโดยจดจ่อแค่ที่บริเวณจมูกเท่านั้น เพราะการที่เราจะทำวิปัสสนาหรือสร้างปัญญาได้นั้นต้องอาศัยใจที่เป็นสมาธิ ถ้าเรายังฟุ้งซ่าน การทำวิปัสสนาก็จะยากและไม่เกิดผล

ถึงผมจะเคยปฏิบัติมาก่อน แต่ก็ไม่ใช่เล่นๆกับการปฏิบัติอย่างมาราธอนแบบนี้ ผมลองนับๆดูแล้วว่าทั้งวันผมต้อง ปฏิบัติรวมกันถึง 11 ชั่วโมง/วัน เลยที่เดียว ถือว่าเข้มข้นมากๆ เพราะทุกๆการปฏิบัติเราจะต้องคอยต่อสู้กับนิสัยธรรมชาติของจิตที่ชอบว้าวุ่นไม่อยู่นิ่งคิดนึกในหัวไปเรื่อย อาการปวดหัว ปวดขา ปวดหลัง ความหนาว ความร้อน โมโหสิ่งที่ไม่ถูกใจ และความหงุดหงิดเล็กๆกับเสียงสวดของท่านอาจารย์ที่รู้สึกแปลกๆไม่คุ้นหู

แต่ละวันจะมีช่วงให้สอบถามปัญหากับอาจารย์ที่สอน ตอนแรกก็ลังเลว่าวันแรกจะถามเลยหรอ ไม่อยากจะดูอ่อนหัด แต่คิดซะว่าใช้ทรัพยากรจากโลกให้เป็นประโยชน์แล้วกัน ซึ่งปรากฏว่าคิดถูกอย่างมาก เพราะอาจารย์บอกว่าสิ่งที่ผมทำมานั้นผิดหมด! ใช่ ผมเคยปฏิบัติมาทำให้ผมไม่สนใจในคำสอน เพราะคิดว่าพื้นๆเคยฝึกแล้วเป็นแล้ว ทำให้ผมมีทิฐิ (อวดดี) เกือบพลาดกู่กลับไม่ทันแล้ว

ตารางวิปัสสนาที่โกเอ็นก้า

วันที่ 2 : มารผจญ

ยังคงต้องสู้เหมือนเคยทั้งความหนักหนาในการปฏิบัติและสิ่งที่คอยมารบกวนจิตใจ ส่วนใหญ่จะเกี่ยวกับภาระหน้าที่การงานที่มาในรูปแบบความคิดที่คอยแต่กังวลว่างานจะรอดไหม ลูกค้าจะมีปัญหาหรือเปล่า ทีมเป็นยังไงบ้างสารพัด ในชั่วโมงปฏิบัติจึงใช้เวลาในหัวไปกับการไกล่เกลียให้ใจมันยอมวางกับความกังวลทั้งหลายเหล่านั้น เพื่อให้กลับมาโฟกัสกับการปฏิบัติต่อได้

คิดจนจับใต๋ได้อย่างนึงคือความคิดที่เข้ามามักจะเป็นความกังวลในเรื่องรูปแบบเดิมๆ คล้ายกับว่าถ้าเราเคยกังวลแล้วปรุงแต่งเป็นปี่เป็นขลุ่ยไปเรื่อยในเรื่องอะไรก็ตามบ่อยๆ มันก็จะคอยกลับมาคิดไอ้เรื่องพวกนี้แหละ จึงมารู้ที่หลังจากการฟังธรรมบรรยายในแต่ช่วงทุ่มนึงของวันว่า นี่คือสิ่งที่เรียกว่าการสะสม สังขาร (การปรุงแต่งในใจ)

การสะสมสังขารจนเป็นฝังรากกิเลสต่างๆในตัวเรา ยิ่งปรุงแต่งเรื่องไหนมามากเท่าไหร่ก็ยิ่งยึดติดในเรื่องนั้นมากเท่านั้น ซึ่งปัญหาก็คือเรามักไม่รู้ตัวเวลาเรากำลังปรุงแต่งอยู่เพราะมันเพลินนั้นเอง (ตอนคิดเรื่องนี้ได้ ก็ทำให้คิดถึงเรื่องการทำงานของกฏแรงดึงดูดอยู่เหมือนกัน)

แล้วก็จบไปอีกวันกับการผลอยหลับไปพร้อมอาการปวดหัวเพราะกล้ามเนื้อใบหน้าที่เกร็งเกิน และ แผลร้อนในก็เริ่มเจ็บขึ้นมาในกระพุ้งแก้มขวาเข้าให้แล้ว!

วันที่ 3 : อยากกลับบ้าน

ความตื่นเต้นอีกอย่างในการมาที่นี่คือลุ้นว่าอาหารแต่ละมื้อจะเป็นอะไร ซึ่งทุกมื้อคือมังสวิรัติ แต่เป็นมังสวิรัติที่อร่อยสุดๆๆ จนถ้าออกมาแล้วอาหารมังอร่อยแบบนี้จะกินมังไปยาวๆเลย และมีอีกเรื่องที่ถือว่าเป็น Surprise เล็กๆน้อยๆในการออกแบบหลักสูตรคือ วันก่อนระหว่างฟังบรรยายมียกตัวอย่างถึงนิทานว่ามีเด็กขอทานได้กิน ’ขนมคีร์’ ขนมของอินเดียที่ทำจากนม มีสีขาว นุ่ม หอมอร่อย …วันนี้เราเจอมันที่โต๊ะอาหารกลางวันของพวกเราด้วย

แต่ถึงจะผ่านมาไม่กี่วันก็รับรู้ได้ถึงความอัจฉริยะทางปัญญาของท่านโกเอ็นก้าในการออกแบบหลักสูตร เพราะหลักสูตรถูกวางมาเป็น Step อย่างดีให้ผู้ปฏิบัติไม่ว่าใหม่หรือเก่าได้ทำตามและเห็นผลการเปลี่ยนแปลงไปทีละนิดได้จริงๆถ้าทำร่วมกับกฏที่วางไว้ รวมทั้งการบรรยายที่เก็บรายละเอียดความสงสัยในใจเราต่อธรรมะได้ทุกเม็ดโดยใช้คำที่เข้าใจง่าย และ พยายามเป็นกลางในเรื่องธรรมะว่าเป็นเรื่องสากล โดยไม่เอาประเด็นศาสนามาเกี่ยวข้องได้อย่างสมบูรณ์ นับว่าเป็นหลักสูตรที่น่าถอดแนวคิดมาใช้ในวิชาอื่นๆอย่างมาก ยอดเยี่ยมจริงๆ ยอดเยี่ยมจริงๆ

แต่ถึงจะดียังไงวันนี้ก็เป็นวันที่อยากกลับบ้านมากที่สุด พอคิดถึงวันที่เหลือก็เบื่อขึ้นมา ที่ต้องตื่นแต่ตีสี่มาปฏิบัติจนค่ำ นาฬิกาตอนพักก็เดินเร็วกว่าตอนปฏิบัติจนเหมือนไม่ได้พัก แถมความคิดก็เริ่มเปลี่ยนจากงาน มาเป็นคิดถึงครอบครัว คิดถึงคนรัก แถมหัวก็ปวด ร้อนในก็เจ็บ แต่ก็ทำอะไรไม่ได้เลย โอ้ย! เอาผมออกไปจากตรงนี้ที

วันที่ 4 : เริ่มน่าสนใจ

วันนี้เริ่มสนุกขึ้นแล้ว เหมือนเป็นจุดที่เรามองข้ามมาตลอดในการศึกษาธรรมะที่ผ่านมา แต่พอได้ฟังถึงเหตุผลต่างๆที่ Make sense เหล่านี้แล้วรู้สึกว่านี่น่าจะเป็นทางที่ทำให้เราลดความทุกข์ในชีวิตทั้งในปัจจุบันและอนาคตได้จริงๆ

มีความรู้อย่างนึงที่ปรับใช้กับวิชาทางโลกได้อย่างดีคือได้การรู้จัก ปัญญา 3 ระดับ ที่ไม่ได้เกี่ยวกับตัวเลข IQ

  1. สุตมยปัญญา : ความรู้ที่เราได้ยินได้ฟังหรืออ่านมา (จริงๆแล้วนี่คือเป็นปัญญาของผู้อื่น ไม่ใช่ของเราเอง)
  2. จินตามยปัญญา : ปัญญาที่เกิดจากการที่เราไตร่ตรองความรู้ที่รับมาด้วยเหตุและผล
  3. ภาวนามยปัญญา : ปัญญาที่เกิดจากการเกิดขึ้นจริงกับตัวเอง และ ทำให้เข้าใจสิ่งนั้นโดยสมบูรณ์

ซึ่งเมื่อพิจารณา ‘ความรู้’ ในตัวเองหลายๆอย่างนั้น เรามักหยุดอยู่แค่ปัญญาระดับที่สองหรือหนึ่งด้วยซ้ำ สิ่งนี้ทำให้ตระหนักถึงการเรียนรู้ของตัวเองที่ถ้าจะเปลี่ยนจากแค่ ความรู้ เป็น ‘ปัญญา’ ที่แท้จริงนั้นต้องเน้นที่การลงมือทำ

วันนี้เราเปลี่ยนจากการปฏิบัตินั่งสมาธิ มาเป็น ‘นั่งวิปัสสนา’ จากแค่สังเกตุลมหายใจ เราเปลี่ยนมาสังเกตุ เวทนา (ความรู้สึกที่เกิดขึ้นกับร่างกายทั้งภายนอกและภายใน) เพื่อดู ‘ความเป็นจริง’ ที่เกิดขึ้นมาสภาวะของธรรมชาติจากร่างกายตัวเอง ว่าด้วยเป้าหมายที่เราจะได้เรียนรู้สัจธรรมของทุกสิ่งนั้นล้วน

  • อนิจจัง : ไม่เที่ยงคงทนถาวร ต้องเกิดการเปลี่ยนแปลง
  • ทุกขัง : มีความทุกข์
  • อนัตตา : ไม่มีตัวตนที่แท้จริง

สิ่งที่กำลังทำนั้น จะทำให้เราเกิดภาวนามยปัญญากับความจริงเหล่านี้ผ่านความรู้สึกที่มาๆไปๆบนร่างกายของเรา โดยหลักสำคัญที่จะเป็นจุดที่ทำให้จิตใจเราบริสุทธิ์โดยหยุดการปรุงแต่งที่เป็นการสร้างกิเลส คือการทำใจให้เป็น ‘อุเบกขา’ (วางใจเป็นกลาง ไม่ยินดียินร้ายกับสิ่งที่เกิดขึ้น) โดยเริ่มฝึกวางกับเวทนาทั้ง ความปวด ความแสบ ความเมื่อย ความร้อน และ เวทนาอีกมากมายที่เปลี่ยนแปลงขึ้นบนร่างกายอย่างคาดเดาไม่ได้ ที่มีสาเหตุจากทั้งสภาพกายและใจของเราด้วย

วันที่ 5 : ยังไม่ได้เรื่อง

ไม่มีวันไหนที่ไม่เจ็บปวด(ทางร่างกาย) แต่วันนี้เสิร์ฟให้เยอะเป็นพิเศษจนสามารถแรกว่าปวดกระดูกจนตูดแทบระเบิดได้เลย แต่ความคิดก็ยังเยอะเหมือนเดิม เพิ่มมาคือการมัวแต่คิดถึงวิธีการเข้าใจธรรมะที่เป็นเรื่องใหม่ที่ถูกเพิ่มเข้ามาในหัวตั้งแต่เมื่อวาน

แต่อย่างน้อยก็มีความคืบหน้าบ้าง เรารู้สึกได้ถึงเวทนา ความรู้สึกได้ทั่วร่างกายได้ดีขึ้น คล้ายเราสามารถควบคุมจิตเป็นวงกลมดวงเล็กๆเท่าปลายนิ้ว วิ่งไปรับความรู้สึกได้ทั่วตัว ไหลเลื้อยไปเรื่อย เป็นเรื่องน่าประหลาดว่าคนเราจะรู้สึกได้ทุกส่วนเพียงนี้เลยหรอ ร่องในใบหู ใต้ฟันกราม กลางส่วนเอวด้านหลัง ซอกนิ้วทุกนิ้ว ได้หมดเลย เออแปลกดี

รวมๆวันนี้เรียกว่าเป็นวันที่ไม่มีสมาธิเลย อีกอย่างที่ช่วยได้เยอะคือการเดินไปบนดาดฟ้าของเรือนพัก แล้วพักสูดอากาศกับบรรยากาศเย็นๆฝนพร่ำๆ ที่ห้อมล้อมไปด้วยอ่างเก็บน้ำ ทุ่งนา และบ้านใหญ่ที่ทิ้งรกร้างมานานจนบริเวณรอบๆนั้นเป็นป่าขนาดย่อมๆเลย …เฮ้อ เติมความสดชื่นได้เยอะ แต่สถานะของอาการปวดหัว และ ร้อนในก็ยังมีอยู่เสมอ…

วิววิปัสสนาที่โกเอ็นก้า

วันที่ 6 : คนบาป

ตั้งแต่เมื่อวานก็ยังคิดไม่ตกว่าเราจะเข้าใจธรรมะนี้อย่างไร หลักๆดีขึ้นในเรื่องความฟุ้งซ่านไม่ค่อยมีความคิดไร้สาระอะไรมาก แต่ดันทดแทนด้วยความคิดที่เป็นความคิดที่หยาบช้าที่ไม่คิดว่าตัวเองจะมีความคิดเน่าเฟะแบบนี้ขึ้นมาในหัว (ต้องขออภัยที่ไม่สามารถบอกได้ว่าคือเรื่องอะไร)

นี่คือกิเลสในใจกำลังดิ้นอยู่ ข้อดีของกฏที่ว่าห้ามคุย ห้ามจับมือถือ ปฏิบัติเสมือนว่าอยู่ตัวคนเดียว คือมันไม่มีของใหม่เข้ามาในหัว จิตมันเลยขุดเอากิเลสที่อยู่ในส่วนลึกในจิตใจออกมาให้เราเห็นอย่างไม่ได้เจตนานั้นเอง บางความคิดแย่จนละลายใจตัวเอง วางใจให้เป็นอุเบกขาไม่ลงเลย

จิตที่ขุ่นมัวทำให้ลามปามไปลังเลสงสัยในสิ่งที่อาจารย์สอน และสิ่งที่กำลังปฏิบัติอยู่ว่ามันจะใช้ได้จริงๆหรอ เข้าใจยาก ทำไม่ได้ซักที จะใช้งานจริงได้ยังไง มั่วหรือเปล่า มันต้องเป็นแบบนี้ซิอย่างงั้นซิ พยายามคิดนู้นนี่เต็มไปหมด

ระหว่างนั่งรอระฆังดังเพื่อเตรียมไปห้องปฏิบัติรวม ก็เอะใจอะไรบางอย่างกับแผ่นพับคำแนะนำกฏระเบียบของหลักสูตรสีฟ้าๆ ที่เจ้าหน้าที่แจกตอนวันแรก ด้วยสายตาจ้องเขม็งในบรรทัดส่วนต้นของหน้ากระดาษที่เขียนว่า “…ซึ่งจะทำให้พบกับสัจธรรมที่เป็นสากล คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา…“

… “หรือมันก็แค่นี้วะ” ความคิดเกิดขึ้นในใจ “นี่เรากำลังคิดอะไรลึกเกินจำเป็นอยู่หรือเปล่า?” คำสอนของพระอาจารย์ท่านนึงขึ้นมาเลยว่า “ยังไงตามันมองไม่เห็นขนตาหรอก เพราะมันอยู่ใกล้กันเกินไป”

วันที่ 7 : วันที่ได้เห็นถึง ‘อนิจจัง’

อาการร้อนวูบขึ้นมาขณะที่นั่งปฏิบัติ เมื่อความเข้าใจจากการนั่งดูการมาและไปของเวทนาหรือความรู้สึกทางกายที่ไม่แน่นอน เกิดขึ้นและหายไปขึ้นซ้ำไปมาอย่างไม่หยุดหย่อนหลายวัน วันละหลายชั่วโมง หัวที่ปวดทำให้สมองล้าที่จะคิด ใจเริ่มปล่อยวางเป็นกลางต่อความพยายามอยากที่จะได้ธรรมะลง เพราะมันไม่ได้ซักที

อาการร้อนวูบนั้นเกิดขึ้นพร้อมความเข้าใจในสัจธรรมก็เกิดขึ้น เมื่อเราเห็นอาการปวดหัวค่อยๆจางและดับลงด้วยตัวมันเองต่อหน้าต่อหน้า “เปรี้ยง! นี่แหละสภาวะอนิจจัง! เราเห็นเจ้าแล้ว ไม่คงที่แบบนี้นี่เอง!“ มันคือความรู้สึกที่ยากจะอธิบายถึงความรู้สึกของการเข้าใจและเชื่อสนิทใจแล้วว่าสิ่งนี้คือเรื่องจริง เกินกว่าแค่รู้เฉยๆ

การลืมตาขึ้นจากปฏิบัติครั้งนั้นทำให้ผมมองโลกเปลี่ยนไป ทุกครั้งที่มีคนเดินผ่านเราจะรู้สึกเสมือนว่า นั้นเป็นแค่ร่างกายหยาบเปล่าๆที่อยู่แค่ชั่วคราว ไม่นานก็ต้องแตกกระจายสลายไปขึ้นอยู่แค่เมื่อไหร่เฉยๆ เมื่อมองได้แบบนั้นความสำคัญที่เราเคยยึดถือในตัวมันก็ลดลงไปโดยทันที

ใจเริ่มมองเห็นความไม่เที่ยงแท้ถาวรของสิ่งต่างๆรอบตัวแบบอัตโนมัติและรู้สึกว่าของพวกนี้มันไม่แน่นอนเอาซะเลย ใบต้นสาละที่แห้งเป็นกอง ปลาที่ถูกตกอยู่คลองข้างๆ ร้อนในในปากที่หายแล้ว ตึกที่มีรอยร้าว พรมเช็ดเท้าขาวสะอาดที่เริ่มมีเส้นด้ายร่อนออกมา เสาเหล็กที่ไม่ว่าจะทาสีทับหนาแค่ไหนก็เห็นรอยสนิม สิ่งต่างๆย่อมมีอายุขัยของตัวมันเอง

แล้วใจก็เริ่มอุเบกขา เป็นกลางได้ชัดเจนยิ่งขึ้นเมื่อรู้ว่า ‘…ทุกสิ่งมันก็เป็นเช่นนั้นเอง’ รวมถึงอาการปวดหัวก็เริ่มเป็นฝ่ายเดียวกับเราเมื่อเราเข้าใจในตัวมันก่อน …นับว่าเป็นจุดเริ่มที่ดี แต่ยังไม่ใช่ปลายทาง เราจึงต้องฝึกฝนกันต่อไปเพื่อความเข้าใจที่ละเอียดและหมดจดกว่านี้

วันที่ 8 : ‘อนัตตา’ ถูกเปิดเผย

ความดีใจจากเมื่อวานถูกตีความอย่างรวดเร็วว่านี่คือความสำเร็จก้าวนึงแล้ว ผลันให้เกิดคำถามในหัวตามมาทันทีว่า ‘ความสำเร็จนี้เป็นของใคร?’ เรา? ท่านโกเอ็นก้า? อาจารย์ที่สอน? หรือใคร? แล้วก็ปล่อยไปไม่ได้คิดอะไรต่อ

ช่วงบ่ายวันนั้น ณ ห้องปฏิบัติรวม ระหว่างปฏิบัติเกิดอาการปวดขามากและเรากับมันต่อสู้กันมาน่าจะราวๆครึ่งชั่วโมง พยายามวางอุเบกขาในใจให้ได้ ให้คิดว่ามันเป็นเรื่องธรรมดาแต่ครั้งนี้มันแรงเกินปกติ …ซักพักนึง มีคำตอบจากคำถามที่ฝากไว้ก่อนหน้าแล่นเข้ามา

‘ความสำเร็จนี้เป็นของใคร?’ ถ้ามันเป็นของใครซักคน แล้วเขาผู้นั้นจะเก็บความสำเร็จไว้ที่ไหน? ชื่อนี้ร่างกายนี้เป็นของที่เดี๋ยวก็พังไปแล้ว แล้วความสำเร็จเป็นของใคร? ของโลกที่ก็มีวันแตกน่ะหรอ? แล้วความสำเร็จมีตัวตนหรือเปล่า? เราล่ะมีไหม? …ค้นหาอยู่ซักพัก จากนั้นประโยคนึงก็ผุดขึ้นมา

‘…ตัวตนของเราเป็นสิ่งที่ยืมโลกมาใช้ชั่วคราวเท่านั้น…’

เมื่อรู้แบบนี้ ทำให้ใจเห็นภาพและเข้าใจได้ชัดเจนทันที่ว่า ‘เราไม่มีตัวตน ไม่มีสิ่งใดมีตัวตน ถ้าทุกสิ่งล้วนถูกยืมมาจากสิ่งที่เป็นอนิจจังไม่เที่ยงแล้ว เราก็จะไม่สามารถเป็นเจ้าของหรือควบคุมอะไรได้ซักอย่างได้จริงๆเลย นี่แหละคือ อนัตตา!’

ความสบายเกิดขึ้นอย่างไม่เคยมีมาก่อน ท่ามกลางอาการปวดที่เปลี่ยนเป็นแสบร้อนที่ยังพอจะรู้ได้บ้างว่ายังมี แต่ตอนนั้นกลับรู้สึกผ่อนคลายมาก ใจเต้นช้าสามารถหายใจลึกๆและยิ้มออกมาได้เลย ‘สบายอะไรแบบนี้ สบายอะไรแบบนี้ สบายอะไรแบบนี้’ ผมพลางพูดกับตัวเองอยู่สองสามที เพลินในความสบายอยู่ไม่นานระฆังหมดเวลาก็ดัง ความสบายนั้นก็หมดลง แต่สิ่งที่ทำให้รู้เลยว่าการแสบขาครั้งนั้นเป็นสิ่งที่หนักกว่าครั้งก่อนจริงๆเพราะว่าอาการแสบบริเวณนั้นยังพอมีให้รู้สึกได้หลังผ่านมาแล้วสองสามวันเลย

ตกดึกกลับมีเรื่องให้เศร้าหมองจิตใจ จากความคิดในจินตนาการถึงการตายของพ่อแม่ คนรัก ออกมาได้สารพัดวิธีว่าเขาจะตายด้วยวิธีไหนได้บ้าง ภาพในหัวเหมือนจริงเสียจนหดหู่ว่าทุกคนต้องตายจากเราแล้วหรือนี่ แต่ไม่นานเมื่อเรามองเห็นอนิจจังในอีกด้านที่ไม่ชัดเจนต่อการสังเกตุเท่า นั้นคือ ‘เมื่อทุกสิ่งล้วนดับ ทุกสิ่งก็ล้วนเกิดเช่นกัน เมื่อทุกสิ่งเกิดความทุกข์ ความสุขก็เกิดได้เช่นกัน’ พลันให้ได้สติแล้วมองเห็นแง่ดีๆที่เท่าเทียมนี้ของธรรมชาติขึ้นมา

การที่ไม่มีทุกข์ในใจ แม้ชั่วขณะมันดีอย่างนี้นี่เอง…

วันที่ 9 : วางธรรมะลงก่อน

เป็นวันที่รู้สึกโล่งใจวันนึง อาจจะมีความคิดเรื่องโลกภายนอกเพิ่มเข้ามาบ้างเพราะใกล้วันออกแต่ก็ไม่เป็นไร ใจคลายตัวเป็นพิเศษ จนถึงจุดที่มาสังเกตุตัวเองว่าธรรมะนี่ก็ทำให้เรานุ่มนวลและเมตตาขึ้นมากเหมือนกันนะ

แต่บางครั้งเราเป็นคนแบบนั้นจริงๆหรอ?

คำถามเชิงท้าทายตัวเองนี้ทำให้เราเห็นว่า บางครั้งเราทำเพื่อคนอื่นเพราะต้องการบังคับตัวเอง อยากให้ตัวเองรู้สึกสะอาด ไร้มลทิน แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ายังมีส่วนภายในใจลึกๆที่เห็นแก่ตัวอยู่ เราจึงลองวางธรรมะลงว่าถ้าแล้วมองโลกอีกครั้งว่าถ้าโลกนี้ไม่มีบาปบุญคุณโทษเราจะทำอะไร

‘ใช่เลย เราก็ยังเป็นคนหยาบอยู่จริงๆ’ ธรรมะนี่เองที่มาเป็นตัวเคลือบจิตใจไม่ใช่กระด้าง เมื่อเอาออกจึงเห็นธาตุแท้และสันดานตัวเองได้ชัดว่าเรายังมีกิเลสครบอยู่ทุกตัวเลย โลภ โกรธ หลง กลัว การมีตัวตน จึงเป็นเรื่องดีที่ลองถอดธรรมะออกมาเพื่อมายอมรับตัวเองว่ายังคงมีสิ่งที่ต้องแก้ไขอีกเยอะ

เหมือนน้ำมะตูมในตอนเย็นวันนั้นที่กินไปหลายแก้ว แต่แก้วสุดท้ายลองล้างปากกินแบบไม่ใส่น้ำเชื่อม ซึ่งรสชาติจริงของมันก็จะฝาดๆดาดๆเหมือนตัวเราตอนถอดธรรมะออกเลย

ป้ายวิปัสสนาที่โกเอ็นก้า

วันที่ 10 : ‘ทุกขัง’ อยู่ตรงนี้เอง

วันนี้ต่างจากวันอื่น เมื่อเราเดินลงมาจากห้องปฏิบัติและเจอกับป้าย ‘กฏของความเงียบได้สิ้นสุดลงแล้ว’ และคอกกั้นชายหญิงได้ทุกเปิดออก …วันนี้พวกเราสามารถคุยกันได้แล้ว เพื่อซ้อมออกไปเจอโลกจริง

จากการได้คุยก็เจอมิตรไมตรีมากมายที่ร่วมปฏิบัติ ที่นี่เต็มไปด้วยความเมตตาจริงๆ แต่ถึงอย่างนั้นก็ต้องเจอกับบททดสอบอารมณ์อันแรกกับตัว เมื่อเราเดินไปขอยืมของกับเจ้าหน้าที่คนหนึ่ง เขากลับเสียงดังขึ้นมาว่า ‘ให้ไม่ได้นะ มันผิดกฏ’ ตอนนั้นเราปกติดี แต่พอกลับมาที่ห้องทำไมดันมีความรู้สึกหงุดหงิดเล็กๆเกิดขึ้น

อาจจะดูเข้าใจได้ว่ากฏคือกฏ แต่เมื่อเจอกับสถานการณ์จริงมักจะมีอารมณ์ไม่พอใจแฝงมาด้วยเสมอ อาจจะเพราะผิดหวังว่าไม่เห็นเมตตาเลย หรือ พูดซะเสียงดังฉันอายคนนะ ก็เป็นได้ แต่ไม่จะด้วยสาเหตุอะไร ก็มาเจอคำตอบของเรื่องนั้นว่าทำไมเราจะต้องหงิดหงุดเขาด้วย ‘เพราะเราหวังว่าเราจะต้องได้’ เมื่อไม่เป็นไปดั่งใจ กิเลสแห่งความโทสะมันก็ขึ้นมา… ยังคิดไม่ทันจบ ใจก็พลันเข้าใจบางสิ่งขึ้นมาทันทีว่า ‘นี่ไง ทุกขัง! ถ้าเรายึดมั่นในสิ่งที่เป็นอนิจจังที่ไม่คงที่ เราก็จะมีความทุกข์แบบนี้แหละ! เพราะจะไปคาดหวังความแน่นอนกับสิ่งที่ไม่แน่นอนมันใช่หรือ?’

เมื่อใจเราเป็นกลาง เป็นอุเบกขามากขึ้น เพราะเห็นได้ชัดว่าถ้าใจเราไม่ไปปรุงบวกเกินไป หรือ ลบเกินไป ก็ไม่ต้องกังวลกับผลอะไร มันคือเรื่องของคำว่า ‘ตั้งใจในเหตุ ปล่อยวางในผล’ จริงๆ

วันที่ 11 : กลับไปรับใช้ธรรมะ

เวลาตีสี่ครึ่งของวันนั้น ศิษย์ทุกคนได้รับการสั่งสอนเรื่องสุดท้ายนั้นคือ ความเมตตา ว่าเราไม่ต้องพยายามต้องหาเหตุผลว่าทำไมเราถึงต้องเมตตา ไม่งั้นทุกสิ่งมันจะเป็นเรื่องการทำดีและหวังผล เมื่อหวังผลเท่ากับว่าเราก็กำลังดำเนินชีวิตด้วยกิเลสความโลภอยู่นั้นเอง

โลกจะดีขึ้นถ้าทุกคนช่วยให้คนอื่นคลายความทุกข์ไป ไม่ว่าจะด้วยวิธีการได้ การให้ทาน ช่วยด้วยแรง หรือด้วยปัญญา แต่จะต้องเริ่มจากตัวเราที่ไม่ทุกข์เสียก่อน การที่ได้มาเรียนธรรมะเพื่อไปปรับใช้กับตัวเอง เมื่อผลมันสุกงอมแล้ว ก็จึงนำผลที่ได้นี้ไปแบ่งปันคนอื่นเพื่อให้เขาได้ลิ้มรสความสุขนี้เช่นเดียวกับเรา

ทำไปเรื่อยๆอย่างไม่รู้จบ แล้วท่านจะมีความสุขเอง…

กลับมาบ้านเพิ่งเห็นว่าที่ผ่านมาตัวเองได้ไร้สติมาขนาดไหนจากเล็บเท้าตัวเองที่ตัดไม่ครบก่อนไป

นับว่าเต็มอิ่มกับชีวิตช่วง 10 วันที่ผ่านมานี้มาก และนับถือในความอุทิศตนเพื่อคนอื่นของท่านอาจารย์โกเอ็นก้า อย่างหาที่สุดไม่ได้ ทั้งอาจารย์ และ เจ้าหน้าที่ที่นี่ ผู้มาด้วยใจเพราะการมาช่วยงานที่นี่เขาจะไม่ได้รับสิ่งของใดๆตอบแทนเลย นอกจากความสุขในการให้เท่านั้น ขอเคารพด้วยใจมา ณ ที่นี้ครับ

บทความตอนนี้อาจจะยาวและต้องคิดตามซักนิดนึง แต่ก็หวังว่าอาจจะมีประโยชน์ต่อคนอื่นบ้างเช่นกัน ซึ่งใครที่อ่านมาจนถึงตรงนี้ต้องขอบพระคุณอย่างยิ่งที่สละเวลาที่ล้ำค่ามาให้กับบทความของผม หากท่านสนใจอยากลองเข้าร่วมหลักสูตรครั้งนี้ซักครั้งก็ขออนุโมทนาด้วย สามารถเข้าไปที่นี่ https://www.thaidhamma.net/ และดูตารางการอบรมของแต่ละสาขาได้เลย (มีโอกาสอยากทำเว็บให้ใหม่จริงๆ)

สุดท้ายหากมีส่วนไหนที่ผมเข้าใจผิดพลาด ผิดเพี้ยนไป ถ้าจะช่วยชี้ทางก็จะเป็นพระคุณอย่างสูงครับ ส่วนตัวผมเองนั้นก็ยังต้องฝึกหัดต่อไป การมาที่นี่รับว่าเป็นจุดต่อยอดทางปัญญาเฉยๆยังไม่ได้ถึงการบรรลุอะไรทั้งสิ้น เพียงแต่ต้องเพียรพยายามและวางใจอุเบกขาจากการรู้ตัวขณะใช้ชีวิตที่ไม่เที่ยงแท้อยู่เสมอเท่านั้นเอง

ขอบคุณมากครับ ขอให้มีความสุขกับการเห็นความจริง

❤️🌿🌗


นี่เป็น Soundtrack เพลงที่ขึ้นมาในหัวระหว่างปฏิบัติ

Greasy Cafe’ – เรื่องธรรมดา
นั่งเล่น – ใจคน
bodyslam – dharmajāti (ดัม-มะ-ชา-ติ)

Posted by
Chanala Wilangka

กำลังพยายามเป็นนักออกแบบ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *