3 เดือน กับการทดลองหาวิธีเพิ่มเวลาในชีวิตประจำวันแบบมั่วๆ

personal increase time productivity

เวลาเราใช้ชีวิตไปเรื่อยๆ คล้ายกันทุกวัน บางทีก็จะไม่รู้แล้วว่าเรามีปัญหาอะไรในชีวิตประจำวันหรือเปล่า เพราะด้วยความชินกับกิจวัตรคล้ายๆเดิม จนมีช่วงนึงด้วยความอยากหานู้นหานี่ทำเล่นๆหลังจากที่ไม่ได้ทำงานแล้ว แต่กลับกลายเป็นว่าทำไปได้แปปเดียว ก็มารู้ตัวว่ามันดึกเกินที่จะทำต่อแบบชิวๆแล้ว อีกซักพักก็ต้องนอน เป็นอย่างนี้แบบรัวๆ จนเริ่มสังเกตุเห็นความเซ็งของตัวเองได้ เลยต้องมาถามตัวเองในวันถัดไปเลยว่า “กูเอาเวลาไปไว้ไหนหมดฮึ?”

เอาล่ะ คำถามมาแบบนี้ก็เข้า Design sprint(เก๊) กันเลย … วันๆเราทำอะไรบ้างวะ? เป็นคำถามที่ต้องมานั่งสืบตัวเองว่าตั้งแต่ตื่นจนถึงนอน เรามีกิจวัตรยังไง แล้วอะไรที่ดูเป็น Routine ที่มันทำให้เราเสียเวลา ถ้าเป้าหมายในแต่ละวันคือ 1. ได้ทำตามแผนที่อยากทำครบ 2. ได้เดินทางบ้าง. ซึ่งสรุปแล้ววิธีเพิ่มเวลาในชีวิตประจำวัน เท่าที่คิดไตร่ตรองด้วยความมั่วใน Logic แล้วมีหลุดมาได้ทดลองทำอยู่ประมาณ 3 เดือนจนถึงปัจจุบัน มีอยู่ประมาณ 5 อย่างที่นึกได้ อันแรกที่ชัดที่สุดเลยคือ

⚡ ️RESET Social Media!

เพราะถ้าบอกว่าปัญหาคือ‘การใช้ Social Media มากเกินไป’ แล้วปัญหาการใช้ Social Media มากเกินไปคืออะไรล่ะ? ‘ติดรูด Feed บนสื่อต่างๆ’ แล้วรูดดูอะไร? ‘เรื่องคนอื่น’ ถ้างั้น เรื่องคนอื่น = เรื่องของเพื่อน ถ้าปัญหาอยู่ตรงนี้แล้วเลิกเล่นเลยไม่ได้ก็ Reset มันซะเลย

แต่ Reset ด้วยการสร้างอีกบัญชีใหม่ ที่ไม่มีเพื่อนเลยมีแต่ข้อมูลที่อยากดูเอาแบบเน้นสาระและอัพเดทโลกอย่างเดียว เพราะถ้าอยากจะเปิดมาเล่นอย่างน้อยๆก็มั่นใจว่าต้องได้อะไรติดหัวไปบ้าง แล้วนี่แหละ พอไม่มีเพื่อน ไม่มีการสนทนาที่เยอะเกินไป มันรูดน้อยลงจริงๆอย่างเห็นได้ชัดเลยนะ เหมือนกับเข้าไปแล้วเคว้งๆเหงาๆ แต่ซักพักก็ชินและรู้สึกดีซะอีกที่เราจำกัดข้อมูลที่เราอยากดูได้แล้ว (🎉) ตอนนี้ก็เลยแปลงสื่อ Social Media แต่ละตัวเป็นเว็บดูข้อมูลพวกข่าว พวกบทความ หรือพวกงานอดิเรกที่สนใจไปโดยปริยายละ (ถ้าไม่ค่อยตอบ โปรดเธอจงรู้ว์)

สรุปผลลัพธ์: ดีมากๆ นอกจากลดเวลาการเล่นลงเหลือแค่ไม่เกิน 30 นาที/วัน แล้วยังควบคุมเนื้อหาของ Feed ที่อยากจะเสพย์ได้ด้วย

💆 ‍ลดการเอางานไปทำที่บ้าน

“ก็มันรีบนี่หว่า” เออ ใครๆก็รีบว้อย! มันอยู่ที่การจัดการเวลาของตัวเองแล้วล่ะ ว่าจะจัดสรร Tasks ที่ต้องทำในแต่ละวันยังไงให้ไม่เหลือกลับไปแช่อิ่มอยู่ที่บ้านแล้วเสียเวลาทำอย่างอื่นไป เพราะเราทำงานมากเกินพอดี โดยส่วนตัวจะใช้วิธีการสร้าง Note มาอันนึง(เช่นจาก Evernote) แล้วเขียน Task ที่เป็นคล้ายๆ To-do lists ของงานวันต่อวัน แล้วเป้าก็คือเคลียให้ได้ตามนั้น ถ้าเคลียหมดตามที่วางไว้ วันนั้นก็จะไม่จับงานอีกเลย ฉะนั้นถ้าจะให้มั่นใจว่ามันจะเสร็จตามแผนเวลาทำงานจึงต้องโฟกัสกับเนื้องานให้มากเช่นกัน ช่วงแรกๆอาจจะยากหน่อยตรงที่เรามักจะยัด Tasks เยอะเกินไปเพราะอยากจะเคลียให้ได้มากที่สุด(ทั้งงาน Timeline หลักๆ, งานแทรก, ประชุม, Co-Working) แล้วทำเสร็จได้ไม่ครบ ข้อนี้ต้องระวัง ลองประเมิน Performance + Time ของตัวเองดู พยายามอย่าให้มันเยอะหรือน้อยเกินไป ถ้าเราทำได้ไม่ครบมันก็จะดองในวันถัดไปแล้วจะเซ็งตัวเองเอาเปล่าๆ ว่าเราทำงานไม่เสร็จตามแผน

สรุปผลลัพธ์: วิธีนี้ทำให้เพิ่มเวลาได้เยอะเลย ลดไปเกือบๆ 2 ชั่วโมงเลย แต่ยังมีอยู่ข้อนึง บางทีติดมากๆอยากทำต่อแต่ต้องห้ามตัวเองให้พอได้แล้ว วิธีแก้คือคงต้องตรงต่อเวลาและพัฒนาสกิลเรื่องงานให้มีความคล่องมือมากยิ่งขึ้น เพราะความเชี่ยวชาญนี่แหละที่จะทำให้เราปั่นและแก้ปัญหางานที่เจอได้ไวกว่าเดิม

🥔 ทดลองตัดสกินเฮด

อันนี้อาจจะหลุดไปหน่อย จนหลายๆคนถามว่า ‘มึงเครียดอะไรเนี่ย ทำไมถึงต้องตัดผมด้วย?’ คือกิจวัตรหลักๆที่ตัวเองมองเห็นว่าเสียเวลากะเรื่องเส้นผมก็คือ 1. หลังอาบน้ำก็ต้องมาเป่าผมให้แห้ง แล้วส่วนตัวไม่ใช่ไดร์เพราะมันร้อน ทรงนี้แห้งตั้งแต่เช็ด 2. ขี้เกียจต้องกวาดผมที่หล่นบนพื้นห้องบ่อยๆ 3. ขี้เกียจจัดทรงผมที่ยุ่งๆก่อนออกจากบ้าน 4.ขี้เกียจที่จะต้องไปตัดผมร้านประจำ ทรงนี้ร้านไหนก็ตัดได้ 5.ไม่ต้องตัดบ่อยๆ 6. ไม่ต้องปัดผมเวลามันมาจิ้มตา 7. ไม่เปลืองแชมพู

สรุปผลลัพธ์: อันนี้ส่วนตัวชอบนะ สบายอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ลดเวลากระจุ๊กกระจิ๊กน่ารำคาญได้โอเคพอสมควร แถมประหยัดเงินขึ้นด้วยทั้งค่าตัดและค่าแชมพู วิธีนี้จะเห็นผลลัพธ์ชัดที่สุดถ้านำไปใช้กับคุณผู้หญิง

🌿 นอนเร็วขึ้นหนึ่งชั่วโมง เพื่อแลกกับการตื่นเช้าขึ้นหนึ่งชั่วโมง

อาจจะดูไม่ใช่การประหยัดเวลาโดยตรง แต่อันนี้เป็นการปรับเวลาให้ใช้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น หรือเรียกง่ายๆว่าคุ้มเวลาที่สุด แต่ก่อนจะคิดว่าตัวเองสมองแล่นกลางคืนดึกๆเพราะมันเงียบไม่มีใครมารบกวน ก็ใช่นะ แต่พอลองตื่นเช้าแม่งแล่นดีกว่าแหะ คือเดี๋ยวนี้จะทำอะไรก็ได้ให้นอนไม่เกินตี 1 แล้วตื่นตอน 8โมง(อันนี้ส่วนตัวถือว่าเช้านะ) เพื่อแลกกับการที่มีเวลาตอนเช้าเพิ่ม 1 ชั่วโมงเช่นกัน อาบน้ำแบบสบายๆแล้วค่อยมานั่งอ่านไรไปเรื่อย ไม่ใช่ตื่นเพื่อเตรียมตัวไปทำงานอย่างเดียว เพราะด้วยความเคยชินของเวลาที่ดึกมากๆมักจะถูกมองว่าเป็นเวลาพักผ่อนไม่ค่อยจะอยากทำอะไรที่มีสาระเท่าไหร่ ซึ่งถ้าจะทำจริงๆก็คงต้องฝืนตัวเองใช้ได้เลย แต่กลับกันตอนเช้าเหมือนเราได้ Refresh ตัวเอง ร่างกายได้ถูกซ่อมแซมจากความเหนื่อยล้าและข้ออ้างที่จะทำอะไรที่มีประโยชน์เช่นการอ่านหนังสือหรือทำอะไรที่ตอนดึกเราขี้เกียจทำ

และยังมีอีกส่วนสำคัญที่ถูกค้นพบหลังจากการลองตื่นเช้าก็คือ การนอนให้ได้ 7 ชั่วโมงว่าสำคัญแล้ว เวลานอนยังสำคัญไม่แพ้กัน …เช่นถ้าเราเริ่มนอนซักตี 2 แล้วตื่น 9 โมง(ครบ 7 ชั่วโมงนะ) แต่ตื่นมาแล้วมีอาการตึ๊บหัวหน่อยๆ เหมือนว่าพักผ่อนไม่พอ ไม่สดชื่นแจ่มใสเท่าที่ควร ถ้าไม่ได้คิดไปเองก็อาจจะเป็นไปได้ว่าเวลาช่วงตี 1 ซึ่งเป็นเวลาช่วงที่ตับได้เริ่มทำงานขจัดสารพิษออกจากร่างกาย ตามรูปแบบ Body Clock ทั่วไป ซึ่งถ้าเราไม่พักผ่อนช่วงนี้ ก็เหมือนว่าเราไม่ปล่อยให้ร่ายกายได้ทำหน้าที่ขจัดของเสียได้ดีเท่าที่ควร แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ขึ้นอยู่กับสุขภาพและเวลาชีวิตของแต่ละคนด้วยอยู่ดี

สรุปผลลัพธ์: เห็นข้อดีของมันพอสมควร หลักๆคือเรื่องสุขภาพนี่แหละ ถ้าไม่นับเรื่องว่าได้มาทำอะไรที่เป็นสาระจรรโลงสมอง แต่เอาจริงๆคืออยากจะขยับให้นอนเร็วกว่านี้ด้วยซ้ำ แต่ยังบังคับกิเลสของคำ่คื่นไม่ได้ง่ายๆแน่นอน แล้วเหมือนจะเป็นเรื่องเล็กน้อยแต่มันไม่เล็กน้อยเลยกับคนที่ชอบนอนดึกมากมาตั้งแต่ เลฟ เอริกสัน ยังไม่ค้นพบทวีปอเมริกา

ทดลองขยัน
11.40 pm — scratch scratch scratch

🌈 จัดไทม์ไลน์แบบตายตัวของช่วงนั้นๆ

ถ้ามันจะต้องเสียเวลาคิดทุกๆวันว่าวันนี้ทำอะไรดี เห็นแบบนั้นเราก็ทำให้มันตายตัวไปเลยซิ จะได้ไม่ต้องมาคิดว่าช่วงนี้ช่วงนั้นของวันจะต้องทำอะไร ซึ่งการจัดไทม์ไลน์วันแบบตายตัวจะอ้างอิงกับความอินในช่วงนั้นเป็นหลัก เช่นถ้าเราช่วงนี้อินการวาดภาพกับเล่น Skateboard เราก็จะพยายามจัดไทม์ไลน์วันเวลาให้เน้นไปที่เรื่องที่เราสนใจเป็นหลักจากกิจวัตรปกติที่เราคิดว่าจะทำทุกวันอยู่แล้ว

ไทม์ไลน์คร่าวๆ
8.00–8.20: ตื่นนอนและอาบน้ำ
8.20–9.20: อ่านหนังสือ
9.30–10.20: (เดินทาง) อ่านนู้นนี่นั้น/การ์ตูน/ฟัง Podcast/Internet surfing
10.40–20:00: ทำงานรัวๆ
20.10–21.00: (เดินทาง) อ่านนู้นนี่นั้น/การ์ตูน/ฟัง Podcast/Internet surfing
21.20–22.30: ศึกษาเรื่องวาดภาพ
22.30–23.00: ศึกษา Skateboard
23.10–24.00: ฝึกอะไรซักอย่างนึงหรือทำอะไรก็ได้ที่ยังพอมีสาระอยู่บ้าง
24.00–1.00: Entertainment และ นอน

ซึ่งความจริงอีเวลาเนี่ยก็อาจจะไม่ได้เป๊ะแบบนี้หรอก ไม่งั้นเดี๋ยวเคร่งเกิน ก็ปรับๆไปตามความเหมาะสมหรือความเร่งของงาน แต่จะพยายามทำแต่ละอย่างให้ได้ครบตามที่วางไว้ อย่างน้อยๆก็ไม่ต้องคิดว่าวันนี้จะทำอะไรดีแค่คิดว่าจะทำตอนไหนบ้างคร่าวๆก็พอแล้ว ถ้าเปลี่ยนไปอินเรื่องอื่นก็ค่อยปรับไทม์ไลน์ให้เข้ากับเรื่องใหม่ๆที่เราสนใจแค่นั้นแหละ

สรุปผลลัพธ์: ถือว่าเป็นการเริ่มฝึกตนให้เป็นคนที่มีประโยชน์(กับตัวเอง)มากขึ้นเหมือนกัน ทั้งเรื่องการได้มีเวลาทำสิ่งที่ชอบและการฝึกวินัย อาจจะไม่ได้มากแต่อย่างน้อยก็เป็นนิสัยเป็น Habits ดีๆที่จะพอสามารถพัฒนาให้ดีขึ้นกว่าเดิมได้ ซึ่งคิดว่าข้อดีข้อนี้ทำให้เรารู้สึกคุ้มจนมองข้ามประเด็นเรื่องการประหยัดเวลาไปได้ง่ายๆเลย


ไม่ต้องแปลกใจทำไมสรุปผลลัพธ์ทุกข้อที่ทดลองมันออกมาดีหมด จะให้ไม่ดีได้ไงล่ะ ตอนที่คิดหาวิธี เราได้ Research กับตัวเองแบบลึกๆไปแล้วว่าเราต้องการอะไรแบบไหน ผลลัพธ์ในการลองเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ก็เลยออกมาเป็นที่น่าพอใจ ซึ่งผลสรุป 3 เดือนที่ลองมา ทำให้มีเวลาและวินัยพอที่จะ

– อ่านหนังสือจบไป 4 เล่ม (บันทึกบรรยาย ๑๐๑101, Stop Stealing Sheep(ฉบับแปลไทย), Managing oneself (ฉบับแปลไทย), Creative Confidence)
– อ่าน Medium ไป 1 ตะกร้า
– ทำโปรเจคท์งาน Design ไปเล่นๆเสร็จไป 2 โปรเจคท์ (On progress อีก 2)
– ฝึกภาษา
– ได้ดูอะไรบั่นทอนปัญญาและท่องอินเตอร์เน็ตชิวๆทุกวัน
– ได้อาบน้ำนานขึ้นทุกวัน
– ได้ออกกำลังกายสั้นๆทุกวัน
– ได้นั่งสมาธิทุกวัน
– และได้เขียนบทความอีกตอนนึง (คือที่ท่านกำลังอ่านอยู่ 🐿)

อาจจะไม่มากมายถ้าสำหรับคนที่อ่านมาถึงตรงนี้ แค่อยากจะแนะนำให้เห็นถึงความสำคัญของเวลา ถ้าคุณมองเวลาที่ผ่านไปเฉยๆโดยที่คุณไม่เหลือเวลาทำสิ่งที่ต้องการ แต่ก็ไม่ได้รู้สึกเซ็งว่า ‘โถ่เอ้ยเวลากู’ แล้วล่ะก็ …ก็ชิวเลยฮะ เพราะถ้าคุณชิวแสดงว่านั้นทำให้คุณมีความสุข อย่าพยายามทำอะไรที่บังคับตัวเองมากเกินไปเลย เวลาไม่ได้ดั่งใจแล้วมันจะโทษตัวเอง แต่ถ้าเริ่มเซ็งกับเวลาที่หายไปก็ลองหาวิธีที่ ‘เหมาะสมกับตัวเอง’ดู ลองคิด Solution ให้กับตัวเองเพราะตัวคุณเองก็น่าจะรู้ดีที่สุดว่าคุณต้องการอะไร บทความนี้เป็นแค่เคสทดลองที่หยิบยกบางวิธีการมั่วๆและสิ่งที่ได้รับมาให้เป็นไอเดียเล่นๆ ยังไงซะตัวเราเองก็คงต้องปรับไปเรื่อยๆอยู่ดี ซึ่งไอเดียคร่าวๆต่อจากนี้ที่จะทำให้มีเวลากลางคืนมากขึ้นคงจะเป็น ลดการนั่งทำงานแช่และกลับบ้านให้ตรงเวลานี่แหละ~

หวังว่าจะได้ประโยชน์ ขอบคุณมากครับ
🍄🍄🍄


อ่านอะไรต่อดี
👉 15 Ways to Increase Productivity at Work
👉 OKR คืออะไร
👉 วิธีการเขียน OKR

อ่านการทดลองอื่นๆได้เลย ที่นี่

Posted by
Chanala Wilangka

กำลังพยายามเป็นนักออกแบบ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *