วิธีตั้งคำถามให้ได้คำตอบ Asking the Right Questions

การถามอยู่กับเราในทุกๆช่วงเวลา คำถามเป็นจุดเริ่มต้นและจุดเปลี่ยนของหลายๆเรื่องในชีวิต ในทั้งเรื่องการการทำงาน และ เรื่องของการดำเนินชีวิต การถามคำถามที่ไม่ถูกต้องไม่แย่เท่ากับการไม่กล้าถาม แต่ถ้าจะให้ได้ทุกสิ่งที่ต้องการ คำถามคือสิ่งแรกๆที่เราควรจะใส่ใจ

ถามเพื่อรับ Brief งาน, ถามเพื่อเก็บข้อมูล, ถามเพื่อขอความช่วยเหลือ, ถามเพื่อหาโอกาส, ถามเพื่อเปิดจินตนาการ, ถามเพื่อก้าวข้ามลิมิต, ถามเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง หรือแม้แต่ ถามเพื่อหาความหมายของชีวิต

ทุกคำถามมีจุดประสงค์ของมัน ให้เราสามารถขบคิดและหาทางออกในหลายๆเรื่อง หรือ ได้รวบรวมข้อมูลที่เป็นเบาะแสให้เราได้ไตร่ตรอง พิจารณา และ ตกผลึกออกมาเป็นทางรอดของชีวิต ทั้งหมดนี้ล้วนแล้วแต่เกิดจากคำถามที่เป็นตัวเปิดทางให้เรานั้นเอง แค่นี้ก็คงจะนึกภาพออกว่า ทำไมคำถามถึงสำคัญ

เพราะคำตอบที่ใช่จะเกิดจากการตั้งคำถามที่ถูกต้อง ถ้าตั้งคำถามผิด คำตอบที่ได้ก็จะผิดไปด้วย

ซึ่งในการคิดคำถามเราควรที่จะต้องรู้สองแง่มุม คือ เราอยากจะรู้อะไร และ รู้ไปเพื่ออะไร จากนั้นค่อยถึงทีที่ต้องมาคิดว่าจะถามอย่างไรต่อไป… ปัญหาว่าเราไม่ได้สิ่งที่ตัวเองต้องการ ส่วนใหญ่ไม่ได้เกิดจากการถามผิดวิธี แต่เป็นเราไม่รู้ด้วยซ้ำว่าต้องถามเรื่องอะไร

มันไม่ใช่เรื่องของความฉลาดหรือโง่ แต่มันมีหลายๆปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับบุคคิลส่วนตัว เช่นความขี้สงสัย, ความเฉลียว, ความสร้างสรรค์ หรือแม้แต่ความสนใจเฉพาะตัว เช่นบางคนเป็นนักธุรกิจ สายตาเขาจะมองหาโอกาสใหม่ๆที่จะต่อยอดเสมอ ส่วนนักออกแบบ สายตาเขาจะมองหาปัญหาและความเป็นไปได้แบบอื่นๆที่จะเกิดขึ้น

เราต่างมีมุมมองที่หลากหลายต่างกันไป แต่สิ่งที่ทุกคนจะต้องมีเหมือนกันนั้นคือ เป้าหมาย เพราะนี่คือก้าวแรกที่จะทำให้เรารู้ว่าตัวเองอยากจะรู้เรื่องอะไร …เราต้องพยายามจับตัวเองให้ได้ว่าตอนนี้ หรือในสถานการณ์นี้เราอยากได้อะไร เมื่อรู้เป้าหมายชัดมันจะง่ายขึ้นเยอะ เมื่อเรากำลังหาทางไปต่อ

เช่น ถ้าเราจะต้องวางแผนลงพื้นที่เพื่อไปถามคนในชุมชน โดยมี เป้าหมาย ก็คือเก็บข้อมูลเพื่อมาสร้าง Product ซักตัว

  1. เราจะเริ่มคลำทางจากการถามตัวเองว่า ‘เราต้องรู้เรื่องอะไรบ้างถึงจะสร้าง Product ได้?’ (เราใช้คำถามเปิดทาง และนำเราไปยังจุดต่อๆไป)
  2. แล้วข้อมูลพวกนี้ช่วยให้เราสร้าง Solution ได้ดีขึ้นยังไง? เราถามหาเหตุผลกับตัวเองเพื่อไตร่ตรองในแน่ใจถึงสิ่งที่อยากได้ว่าเราต้องการมันจริงๆแน่ๆใช่ไหม
  3. ทีนี้ เราจะต้องทำยังไงล่ะ เพื่อให้ได้ข้อมูลพวกนี้มา? ตรงนี้คือจุดที่เราจะมาหาวิธีในการได้มาซึ่งข้อมูลที่เราอยากจะได้แล้ว ซึ่งแน่นอน ในกรณีนี้เราจะหาคำตอบเหล่านี้ด้วยการถามคำถามนั้นเอง
  4. สุดท้ายเราจะสร้างและถามคำถามที่ถูกต้องเพื่อให้ได้มาซึ่งคำตอบที่เป็นกุญแจสำคัญในการการไขประตูทางออกสำหรับทุกๆปัญหาของเรา …จำไว้ว่ากุญแจที่ถูกดอกเท่านั้นถึงจะไขประตูที่ต้องการจะเปิดได้

คำถามจะ Impact แค่ไหน ก็ขึ้นอยู่กับขนาดของเป้าหมายด้วยเช่นกัน

แล้วถามยังไงให้ได้คำตอบ?

ก่อนอื่นต้องรู้ความจริงข้อนี้ว่า การถามให้ถูกคนก็สำคัญไม่แพ้การถามให้ถูกเรื่อง ถึงแม้ว่าเราจะรู้เรื่องที่เราอยากรู้แล้ว แต่ไม่ใช่ทุกคนที่จะให้คำตอบกับทุกๆคำถามของเราได้เหมือนกัน ถึงเขาจะตอบได้ก็จริง แต่ใช่ว่าคำตอบนั้นจะถูกต้องอีกเหมือนกัน

เช่นถ้าเราจะสร้าง Product ไม่ใช่แค่ถามลูกค้าที่จ้างเรา แต่ควรไปถามถึงคนที่จะมาใช้ Product, ถ้าอยากลดความอ้วนก็ต้องไปถามคนที่เคยอ้วนมาก่อน, ถ้าจะถามถึงโอกาสว่าชีวิตเราทำแบบนี้จะประสบความสำเร็จไหม ก็ควรไปถามคนที่ทำได้มาแล้วจริงๆ

เพราะเราจะต้องไม่ลืมการมองคำตอบที่เราได้รับมานั้นว่าเป็นความจริง (Fact) หรือแค่ความคิดเห็น (Opinion)

ความจริง (Fact) เกิดจากความรู้ อารมณ์ และ ประสบการณ์จริงที่สั่งสมมาของผู้ที่ตอบคำถามเรา แต่ ความคิดเห็น (Opinion) จะเกิดจากการคาดเดาจากมุมมองของคนนั้นๆ ที่ผสมข้อมูลที่มีความใกล้เคียงกันในหัวแล้วสร้างออกมาเป็นคำตอบ นี่จึงเป็นเรื่องสำคัญว่า ‘เรากำลังถามใคร?’

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น เมื่อเราเลือกคนที่ถูกต้องแล้วก็อย่าเพิ่งวางใจสบายตัวไป อย่างที่เรารู้กัน คนเราลึกๆแล้วมักมีมุมมองส่วนตัวที่ต่างกัน ทำพวกเรามักมีความลำเอียงหรือ Bias เฉพาะตัวอยู่แล้ว

สิ่งนี้จะส่งผลโดยตรงกับ Output หรือก็คือคำตอบที่เขาจะตอบกลับเรามา บางที่อยากตอบเพื่อเอาใจเรา, บางทีอยากตอบเพื่อให้ตัวเองดูเจ๋งดูดี, บางทีก็อยากตอบเพื่อให้เรื่องมันจบๆไป สุดท้ายคำตอบที่เราได้มาพวกนี้ ถูกบิดเบือนโดยไม่รู้ตัวจนไม่ต่างอะไรกับคำโกหก

ซึ่ง คำตอบที่ดี คือคำตอบที่จะพาเราเคลื่อนที่เข้าใกล้เป้าหมายของเรามากยิ่งขึ้น และ ที่สำคัญต้องเป็นความจริง เราอาจจะไม่สามารถวัดได้เป็นตัวเลขว่าความจริงที่เราได้มานั้นมันกี่เปอร์เซ็นต์ แต่อย่างน้อยเราก็สามารถรู้ได้จากการเอาคำตอบนั้นไปพิสูจน์

ถ้าคำตอบที่ได้มาไกลจากความจริงมากเท่าไหร่มันก็ทำให้เราห่างจากเป้าหมายออกไปมากเท่านั้น แต่การที่จะได้มาซึ่งคำตอบที่ดี ก็ต้องมาจากคำถามที่ดีเช่นเดียวกัน

เราต้องรู้จักก่อนว่าคำถามแต่ละประเภทนั้น จะให้คำตอบแบบไหนกับเรา

👉 คำถามปลายเปิด (Open-ended Question)

  • เพราะอะไรคุณถึงมาเริ่มฟังเพลง Hiphop หรอ?
  • ร้านที่ไปนวดมาวันก่อนเป็นไง เล่าให้ฟังหน่อยดิ?
  • ทำไมคนไทยถึงชอบเล่นหวย?
  • คุณคิดยังไงกับการเปิดสวนสัตว์?
  • อะไรที่ทำให้คนอื่นต้องอิจฉาคุณ?

คำถามปลายเปิด คือ คำถามที่เปิดโอกาสให้ผู้ตอบ ‘อธิบาย’ ถึงเหตุผล บอกความรู้สึก เล่าประสบการณ์ หรือ เสนอความคิดเห็น ถ้าศัพท์วิชาการหน่อยก็จะเรียกข้อมูลที่ได้มาจากคำถามเหล่านี้ว่า ข้อมูลเชิงคุณภาพ (Qualitative Data)

ซึ่งเวลาถามก็ต้องจำกัดความกว้างของคำตอบดีๆไม่งั้นจะไหลนอกเรื่องออกทะเลไปได้

👉 คำถามปลายปิด (Closed-ended Question)

  • คุณพี่ตดใช่มั้ยคะ?
  • คุณเคยไปเที่ยวป่าบงเปียงมาแล้วหรือยัง?
  • พอจะมีเงินให้ยืมบ้างไหม?
  • ระหว่าง งานที่ชอบแต่ไม่มั่นคง กับ งานที่ไม่ชอบแต่มั่นคง จะเลือกอะไร?
  • การล็อกดาวน์ทำให้ผู้ติดเชื้อ Covid-19 ลดลงจริงหรือไม่?

คำถามปลายปิด ก็ปิดตามชื่อ คำตอบที่เรามักจะได้จากคำถามพวกนี้คือ ‘ใช่หรือไม่’ หรือคำตอบแบบฟันฉับจบเลย คอนเฟิร์มคำถามได้เร็วแต่จะไม่ได้เหตุผลมาเท่าไหร่ ข้อมูลแบบนี้จะเรียกว่าเป็นข้อมูลเชิงปริมาณ (Quantitative Data)

เมื่อเรารู้จักประเภทคำถาม, รู้แล้วว่าเป้าหมายคืออะไร, รวมถึงยังรู้อีกว่าต้องได้ข้อมูลอะไรบ้างที่จะทำให้เราไปถึงเป้าหมายนั้นได้ เมื่อรู้แบบนี้เราจะสามารถเลือกได้แล้วว่า ถ้าเราอยากได้ข้อมูลประมาณนี้เราควรที่จะต้องถามด้วยรูปแบบคำถามแบบไหน

ถ้าอยากได้เหตุผลเบื้องหลัง ว่าเขาคิดอะไรอยู่, อยากรู้ความรู้สึก, อยากรู้ประสบการณ์ อาจจะต้องเลือกเป็นคำถามปลายเปิด แต่ถ้าเราอยากรู้เพื่อยืนยันข้อมูลที่เรามี ถ้าอยากได้ข้อมูลเฉพาะเจาะจงประเด็น ก็มาเลือกใช้คำถามปลายปิดแทน ซึ่งในการสนทนาที่ลื่นไหล เราควรที่จะผสมคำถามทั้งสองประเภทนี้ให้เหมาะตามแต่ละสถานการณ์

สมมุติว่าเราอยากจะเก็บข้อมูลคนชอบเที่ยวเพื่อหาไอเดียมาต่อยอดธุรกิจ ก็อาจจะชวนเขาคุยโดยการเลือกใช้คำถามปลายเปิด-ปิด ให้ถูกจังหวะ เช่น

  1. ปกติไปเที่ยวบ่อยไหมครับ? [ปลายปิด] เพื่อโยงเข้าเรื่อง
  2. ปีนี้ไปลุยมากี่ที่แล้วครับเนี่ย? [ปลายปิด] เพื่อเฟิร์มว่าเที่ยวถี่จริงตามที่พูดตอนแรกไหม
  3. ครั้งล่าสุดเป็นไงบ้างครับ ไปไหนมาๆ? [ปลายเปิด] ให้เขาเริ่มเล่าทริปของเราเพื่อดูสไตล์การเที่ยวและความเชี่ยวชาญ
  4. ทำไมตอนนั้นพี่ถึงตัดสินใจไปเที่ยวที่นั้นล่ะ? [ปลายเปิด] เมื่อรู้ว่าคุยถูกคน ก็เริ่มถามคำถามหลักที่เราสนใจเจาะลึกให้เขาอธิบายได้เลย (เช่น ‘มีการหาข้อมูลยังไงบ้าง? เล่าให้ฟังหน่อย’, ‘กังวลไหมพี่ เวลาเที่ยวคนเดียว? ทำไมๆๆ?’) แล้วอย่าลืมดูด้วยว่า คำถามที่เราถามนั้นทำให้เราเข้าใกล้เป้าหมายมากขึ้นด้วยหรือเปล่า

เพราะความลื่นไหลก็เป็นปัจจัยนึงที่สำคัญในการที่จะทำให้ผู้ตอบรู้สึกเป็นธรรมชาติมากที่สุด เมื่อรู้สึกเป็นธรรมชาติ เราและเขาก็จะตื่นเต้นน้อยลงไม่เกร็งและที่แน่นอนที่สุดคือ โอกาสที่เขาจะเปิดใจกับเราก็มีสูงมากขึ้นด้วย

สิ่งที่เราต้องการไม่ใช่แค่ได้ข้อมูลที่ตรงประเด็น แต่ยังต้องได้ข้อมูลที่ใกล้กับความจริงที่สุดอีกด้วย

แต่จะถามยังไงให้ได้ความจริง?

ทำให้เชื่อใจ

นี่คืออย่างแรกที่เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำอีกฝ่ายนึงสามารถเล่าสิ่งที่อยู่ในใจจริงๆออกมาได้ ความเชื่อใจ คือ สิ่งที่ทำให้คนเราอ่อนโยนและไม่ระแวงกัน เพราะความระแวงมักทำให้คนปิดบังไม่ไม่รู้เขาจะเอาข้อมูลเราไปทำอะไร เวลาตอบเราก็จะกั๊กๆ หรือหนักไปกว่านั้นคือได้คำตอบปลอมๆที่สร้างขึ้นมาใหม่เฉยเลย

แต่หากว่าเราเริ่มที่จะเปิดใจให้กับเขาก่อน เปิดเผยว่าเรามาทำอะไร เป็นใคร กำลังทำอะไรอยู่ ชวนคุยนอกเรื่องที่ทำให้บรรยากาศรู้สึกไม่เป็นทางการจนเกินไป เพื่อลดความเกร็งลง ซึ่งความเป็นมิตรเหล่านี้จะต้องอยู่ภายใต้ความสุภาพและการให้เกียรติอีกฝ่ายเป็นอย่างยิ่ง

การฟังให้เยอะ ใส่ใจกับคำพูดและความคิดของเขา ซึ่งสิ่งนี้จะทำให้เขาเปิดใจที่จะมองว่าเราเป็นพวกเดียวกัน และ ให้เกียรติเราเหมือนกับว่าเป็นเพื่อนใหม่อีกคนนึงของเขาเช่นกัน จนบางทีเขาอาจจะพูดสิ่งที่เราต้องการออกมาโดยไม่ทันได้ถามเลยก็ได้

ระวังคำตอบที่อยากได้ยิน

เพราะใครๆก็อยากได้ยิน คำที่ตัวเองอยากได้ยิน บางทีเราก็เลยมักจะถามคำถามที่พยายามเชื้อเชิญให้เขาตอบแบบที่เราอยากฟัง บางทีเราอาจจะเพิ่งรู้ตัวหลังจากที่ถามคำถามแบบนี้ไปแล้วด้วยซ้ำ เพราะว่าเราถามคำถามพวกนี้โดยไม่รู้ตัวน่ะซิ!

สิ่งนี้เกิดจากความลำเอียงของสมอง (Cognitive Bias) อย่างนึงขึ้นมาที่ชื่อว่า Confirmation Bias ทำให้เรามักมีแนวโน้มที่อยากได้ยินคำตอบ ที่ตรงกับความคาดหวังตัวเองมากเป็นพิเศษ และมันเกิดขึ้นบ่อยมาก

  • “… เป็นไงบ้างไอเดียผม ชอบไหมครับ?” (พยายามจะให้ตอบว่าชอบนั้นแหละ)
  • “ผมไม่รู้ว่าจะออก Honda หรือ Mazda ดีอะพี่? แต่ Mazda ก็จะดูเรียบหรูดีนะ (มาถามความเห็น แต่ใจตัวเองมียี่ห้อที่เลือกไว้แล้ว สมองเลยเผลอพูดข้อดีออกมาเพื่ออยากให้คนตอบ Mazda)
  • “นี่! วาดมาทั้งอาทิตย์แล้วก็เสร็จจนได้ ส่วนตัวพี่คิดว่ามันพอใช้ได้เลย น้องคิดว่าไง?” (คนนี้ก็อินของที่ตัวเองทำ อยากภูมิใจนำเสนอมาก แต่ก็พูดซะเราไม่กล้าขัดใจ ให้ Feedback ตรงๆเลย)

เวลาเราจะถาม ถ้าเราอยากจะได้คำตอบจริงใจ ทั้งการถามเพื่อขอ Feedback, Research, หรือขอความเห็น เราก็ต้องระวังคำถามชี้นำที่อยากจะให้ได้คำตอบที่เราอยากได้ยินด้วย

เล่าประสบการณ์

ในการถามเพื่อเสาะหาความจริง สิ่งนึงที่จะทำให้คนโกหกเราได้ยากมากขึ้นคือการถามถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้นแล้ว หรือประสบการณ์ที่เขาเจอมานั้นเอง เพราะการเล่าเรื่องนั้น ถ้าคนจะโกหกจะต้องใช้พลังงานสมองมากๆในการแต่งเรื่องขึ้นมาใหม่และพูดทันที และเป็นการง่ายที่จะในการจับโกหกจากความตะกุกตะกัก

แต่ถ้าเราไม่ได้จะไปเป็นสายสืบก็คงไม่ต้องถึงขนาดนั้น แต่เทคนิคนี้สามารถประยุกต์ใช้ในการไปเก็บข้อมูล หรือ ใช้ในการหาต้นตอของปัญหาที่เกิดขึ้นได้ จากคำตอบของเขา

  • “ครั้งสุดท้ายที่คุณออกกำลังกายคือตอนไหนหรอครับ? ตอนนั้นเป็นไงบ้าง?” (หากคนที่เราสัมภาษณ์บอกเราว่า ‘ผมก็ชอบนะการออกกำลังเนี่ย’ แต่เรารู้สึกทะแม่งๆก็เลยถามคำถามข้างบนไปเพื่อให้เขาเล่า ‘ออกครั้งสุดท้ายเมื่อสองปีก่อน…’ ถ้าตอบแบบนี้ เราอาจจะพอรู้แล้วว่า คนนี้อาจจะไม่ใช่กลุ่มเป้าหมายที่ชอบออกกำลังจริงๆก็ได้ แต่แค่พูดให้ตัวเองดูดี)
  • “รุ่นนี้ดีจริงหรอพี่ ราคาไม่แรงซะด้วย ว่าแต่ตอนที่พี่ใช้เป็นไงบ้างอะ?” (ฟังแล้วมาอวย หรือใช้จริงต้องถามดีๆ เดี๋ยวจะตกเป็นเหยือการตลาด)
  • “เห็นบอกไปช่วยเพื่อนปลูกต้นไม้แต่กลับมาซะเช้า! ไหนๆไปปลูกอะไรยังไง เล่ามาหน่อยดิ๊!?” (…ขอไม่ยุ่งนะครับ)
  • “โห นาฬิกาอย่างแพงยืมเพื่อนมาหรอลุง? แล้วตอนนั้นลุงยืมยังไงเพื่อนถึงให้ของแพงๆมาใช้อะ?” (บางเรื่องเราไม่มั่นใจในคำตอบของเขา ก็อาจจะให้เขาลองเล่ารายละเอียดให้ฟังเพิ่มก็ได้)

เจาะไปถึงแก่น

อย่าเพิ่งด่วนสรุปคำตอบที่เราได้มาเด็ดขาด ‘ทำไม? ทำไม? ทำไม?’ คำนี้ที่จะพาให้เราล้วงลึกไปถึงรากของเหตุจริงๆ เช่นเมื่อเราถามแล้วได้คำตอบอะไรมาซักอย่าง ลองถามต่อว่า ‘ทำไม’ ซ้ำๆ เพื่อหาเหตุผลต่อไปเรื่อยๆจนกว่าจะถึงต้นตอของมัน ยกตัวอย่างทฤษฏี 5 Why ที่ถูกคิดค้นมาตั้งแต่ปี 1930 โดย Sakichi Toyoda หรือนักนวัตกรรมและผู้ก่อตั้งบริษัท Toyota นั้นเอง

เริ่มจากปัญหาที่ว่า “พนักงานคนหนึ่งมาทำงานสายบ่อยๆ”

  • ทำไมที่ 1 : ทำไมถึงมาทำงานสาย? คำตอบ : เพราะว่าตื่นสาย
  • ทำไมที่ 2 : แล้วทำไมถึงตื่นสาย? คำตอบ : เพราะว่านอนดึก
  • ทำไมที่ 3 : อ่าวทำไมนอนดึกล่ะ? คำตอบ : เล่นคอมเพลิน บางทีเลยนอนดึก
  • ทำไมที่ 4 : แล้วช่วงนี้ส่วนใหญ่เล่นอะไร? คำตอบ : เล่นเกมออนไลน์ (ข้อนี้ไม่ได้ถามว่าทำไมตรงๆ แต่ก็เป็นการเจาะลึกลงไปอยู่ดี)
  • ทำไมที่ 5 : ทำไมต้องเล่นถึงดึกๆเลยล่ะ? คำตอบ : เพราะช่วงนี้มีจะแข่งเลยต้องซ้อมเยอะ

น่าจะพอเห็นภาพ Concept ของ 5 Why แต่เอาเข้าจริงในทุกครั้งที่ถามไม่จำเป็นว่าจะต้อง 5 ครั้งเสมอไป เราควรที่จะต้องปรับให้เข้ากับสถานการณ์ของคำตอบที่ได้มาอย่างเป็นธรรมชาติ

บางคำตอบที่ดูจะสุดทางแล้วก็ไม่จำเป็นที่จะต้องเจาะต่อก็ได้ แต่ถ้ามีคำตอบไหนที่ยังรู้สึกว่าคลุมเคลือหรือยังเหลือสงสัย เราก็ค่อยถามเจาะลึกลงต่อไป (ศัพท์เทคนิคจะเรียกว่า Follow-up Questions) ซึ่งในการถามเจาะทำไมที่ดี ควรที่จะต้องมีความเป็นธรรมชาติไม่ใช่แข็งทื่อและที่สำคัญต้องไม่ถามจนเขารู้สึกเหมือนว่าเรากำลังกวนตีนเขาอยู่!

‘เราจำเป็นต้องสังเกตุให้ลึก แต่ไม่ใช่แค่ว่าสิ่งต่างๆทำงานอย่างไร แต่ต้องถามถึงว่าทำไมมันถึงต้องทำงานแบบนั้นด้วย’

Leonardo da vinci

การถามคำถามที่ดี ที่ได้มาซึ่งความจริงก็ต้องอาศัยหลายๆศาสตร์และหลายๆทักษะ คลุกเคล้ารวมกันให้ออกมาได้กลมกล่อมที่สุดไม่ว่าจะเป็นคำที่ใช้, โครงสร้างประโยค, สีหน้า, การวางท่า, Body Language หรือแม้แต่การการแต่งกาย มีส่วนทั้งหมด …การถามจึงเป็นอีกหนึ่ง Soft Skill สำคัญที่ไม่เลือกอาชีพแล้ว ซึ่งถ้าให้พูดตามตรงมันก็เป็นอีกหนึ่ง Skill ที่ยากพอสมควร แต่ยังดีที่พอขึ้นช่ือว่า Skill แปลว่าเราสามารถฝึกและพัฒนามันได้

💡 ในการสัมภาษณ์ครั้งนึง Jony Ive เคยพูดว่า ‘คำจัดกัดความที่ยิ่งใหญ่ว่า นักออกแบบคืออะไร? มันคือวิธีที่เรามองโลก และผมคิดว่ามันเป็นคำสาปอย่างนึง เพราะเราจะเฝ้ามองอะไรต่อมิอะไรแล้วคิดตลอดว่า ทำไม? ทำไมถึงเป็นแบบนั้น ทำไมไม่เป็นแบบนี้?’

การพัฒนาทักษะการถาม เป็นสิ่งที่คุ้มค่าแรงเหนื่อยในการฝึกฝนพอๆกับฝึกภาษาที่สอง อย่างที่บอกในตอนแรกว่าคำถามนำมาซึ่งโอกาสหลายๆอย่างมากมายเกินกว่าเราจะคิดไปถึง และ ส่วนสำคัญที่จะช่วยให้เราเก่งในการตั้งคำถามมากขึ้น นั้นคือนิสัยของความ “ขี้สงสัย”

สิ่งนั้นคืออะไร? ทำไมสิ่งนั้นต้องเป็นแบบนี้? ทำไมตรงนี้ต้องทำแบบนั้น? การขี้สงสัยและถามมันออกมา มันคือเปิดสมองในมุมมองที่ต่างออกไปเหมือนกับการได้สำรวจพื้นที่ความรู้ใหม่ๆ หาความเป็นไปได้ที่อาจจะไม่เคยค้นพบจากการขบคิดและตกผลึกกับตัวเองหรือกับคนอื่น ซึ่งจะพูดได้อีกอย่างนึงว่าการขี้สงสัยเป็นเมล็ดพันธุ์ชั้นดีของความคิดสร้างสรรค์

‘คำถาม’ ยิ่งถามเยอะก็ยิ่งดี แต่จะทำยังไงดีให้ถามแล้วคนอยากจะตอบ เพราะไม่ใช่ว่าทุกคำถามจะเป็นคำถามที่น่าตอบ ประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากคำถามนั้นคืออะไร? คนเข้าใจสิ่งที่เราอยากจะสื่อจริงๆหรือเปล่า? หรือว่า จะทำยังไงให้เราถามได้เก่งและน่าตอบมากขึ้น?

ถามยังไงให้คนอยากตอบ?

กระชับ และ ตรงประเด็น

บางทีปูเรื่องยาวอ้อมค้อมไป จนคนตอบลืมไปแล้วว่าเราจะมาถามอะไร หรือบางคำถามอาจจะกว้างหรือลึกเกินไปจนคนตอบก็นึกภาพตามไม่ได้เหมือนกัน

ซึ่ง ‘ความกระชับ’ จะช่วยให้ง่ายต่อการจับใจความสำคัญ ผ่านการเปลี่ยนมุมมองการถาม (Reframing) ปรับให้มีโครงสร้างประโยคที่มีความซับซ้อนน้อยลง และ เลือกใช้ภาษาที่ใช้ให้ไม่ดูทางการจนเกินไป เพราะบางทีคำบ้านๆก็อาจจะทำให้เข้าถึงได้ง่ายและตรงประเด็นมากขึ้นก็ได้

  • “แอพนี้มีปัจจัยอะไรบ้างหลังจากที่ใช้มา ที่ทำให้พี่เกิดความรู้สึกไม่พึงพอใจในการใช้งาน?” : คำถามนี้ดูเป็นทางการและซับซ้อนยืดยาวไปนิดนึง อาจจะปรับเพื่อให้คิดคำตอบได้ง่ายมากขึ้นเป็น “หลังจากพี่ใช้แอพนี้มา มีตรงไหนที่ทำให้พี่รู้สึกว่ามันยังไม่ค่อยเวิร์คบ้าง?”
  • “ผมอยากเป็นศิลปินดัง จะต้องทำยังไงหรอครับ?” : คำนี้กว้างเกินไป คนตอบก็ตอบยากเพราะไม่รู้จะเริ่มจากจุดไหนดี จำเป็นต้องเจาะจงประเด็นมากขึ้นเช่น “ผมชอบร้องเพลงมาก โดยเฉพาะแนว R&B ควรที่จะต้องเริ่มฝึกยังไง เพื่อให้ได้เป็นศิลปินดังได้หรอครับ?”
  • “พอดีก่อนหน้านี้หนูทำงานหนักมาก บางวันก็นอนน้อย แต่เห็นว่าวันนี้พรุ่งนี้ไม่ค่อยมีอะไรมาก แถมมีน้องอีกคนคอยช่วยดูด้วย ถ้าพรุ่งนี้หนูไม่อยู่จะเป็นอะไรมากไหมคะ?” : บางทีการอ้อมค้อมเกินไปก็เป็นการไม่ให้เกียรติเวลากันและกันแถมดีๆไม่ดีคนงงด้วย ถ้าเรื่องไหนตรงได้ตรงไปเลย “พี่คะ พรุ่งนี้หนูขอลาได้ไหมคะ? หนูเตรียมงานที่ต้องฝากเรียบร้อยแล้วค่ะ”
  • “ทำไมเราจึงไม่ร่ำรวยซักที” : เป็นคำถามที่กว้างและมีทัศนคติที่ถามไม่ถูกประเด็นซึ่งควรเปลี่ยนมาเป็น “ทำไมคนที่มีต้นทุนชีวิตไม่ต่างจากเรา เขาถึงร่ำรวยได้” คำถามนี้ได้มาจาก The Secret Sauce EP.356 ดีมากๆแนะนำครับ

💡 Tip: ในการถามเราควรโฟกัสการ ถามทีละคำถาม เพราะถ้าเราถามรวดเดียวเพื่อกะประหยัดเวลา คำตอบที่ได้มาอาจจะไม่ครบ ไม่เราก็เขานี่แหละที่จะลืมว่ายังเหลือคำตอบเรื่องอื่นๆที่ถามไปอีกนะ เอาเป็นว่าถามที่ละคำถามจะดีที่สุด

เช็คคำถามกับตัวเอง

ง่ายและเร็วที่สุดในการที่เราจะตรวจสอบ Quality ของคำถามคือ ลองเอาคำถามนั้นถามกับตัวเองดู เพราะบางครั้งเวลาเราคิดคำถามแล้ว เราลืมที่จะลองสวมหมวกเป็นมุมมองของคนตอบ ว่าถ้าเราเป็นเขาจริงๆจะตอบได้ไหม จะเข้าใจหรือเปล่า หรือต้องใช้สมองมากขนาดไหน และอีกส่วนที่สำคัญคือเราจะได้เช็คด้วยว่าคำตอบที่คาดว่าจะได้มาจากคำถามนั้น มันทำให้เราเข้าใกล้เป้าหมายจริงๆหรือไม่

ซึ่งวิธีนี้ ถ้าเป็นคำถามที่เรามีเวลาคิดล่วงหน้าประมาณนึงก็อาจจะลองถามกับคนข้างๆเพิ่มก็ได้ ถือว่าเป็นการทดสอบคำถามให้รอบคอบไปในตัว แต่ถ้าคำถามนั้นเฉพาะทางมากๆ ก็ต้องลองแปลงเป็นคำถามทั่วๆไปโดยใช้โครงสร้างประโยคคำถามเดิมแทนก็ได้ แต่อย่างน้อยๆก็ขอให้ได้ลองถามกับตัวเองเพื่อจะได้มาปรับจูนคำถาม ให้ตอบได้ง่ายและตรงประเด็นมากยิ่งขึ้น

ถามในสิ่งที่เป็นประโยชน์

สิ่งที่ทุกคนควรจะทำคือ ถามคำถามที่มีประโยชน์และมีสาระ ซึ่งคอนเซ็ปท์ง่ายๆแต่บางทีก็ทำยาก ประโยชน์อันดับแรกที่ควรจะได้รับคือ ตัวเราเองต้องหายสงสัยในเรื่องที่ถามและต่อยอดได้ แต่มากไปกว่านั้น บางคำถามมีพลังมากยิ่งกว่าที่ทำให้คนอื่นๆได้ประโยชน์และเปิดมุมมองจากคำถามนั้นๆไปด้วยกันราวกับได้เบิกเนตร

นอกจากจะคลายสงสัยในสิ่งที่บางทีไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเรากำลังสงสัยเรื่องนี้อยู่ หรือเป็นมุมที่ตั้งแต่เกิดมาก็ยังไม่เคยได้คิดด้านนี้มาก่อนเลย และบางคำถามยิ่งใหญ่พอที่จะทำให้ตัวเรา เพื่อนเรา คนทั้งประเทศ ไปจนถึงคนทั้งโลก สามารถหยุดและฉุกคิดจนได้มาซึ่งไอเดีย และ ปัญญาอันลึกซึ้ง (Wisdom) ขึ้นมาเพื่อเปลี่ยนแปลงและต่อยอดความ Impact ที่ได้จากคำถามนี้อีกมหาศาลไม่รู้จบ อย่างเช่น

  • อยากให้ภาพสุดท้ายของ Project นี้เป็นยังไง?
  • ทำไมลูกค้าถึงถึงเลือกซื้อของจากเรา?
  • ความสำเร็จของบริษัทคุณวัดจากจากอะไร?
  • คุณเห็นตัวเองเป็นยังไงในอีก 3 ปีข้างหน้า?
  • จะลองทำดูไหม ถ้ารู้ว่าทำไปแล้วอาจจะล้มเหลว?
  • ใครที่จะจัดการปัญหานี้ได้ดีที่สุด? และ เราเรียนรู้อะไรจากเขาได้บ้าง? (Bill Gates)
  • อะไรคือปัญหาใหญ่ที่สุดที่เคยเกิดขึ้นกับคุณ? แล้วตอนนั้นจัดการยังไง? (Elon Musk)
  • ตอนไหนที่คุณเป็นตัวเองมากที่สุด? (Leonardo da Vinci)
  • หากวันนี้เป็นวันสุดท้ายในชีวิต คุณอยากทำอะไร? (Steve Jobs)
  • ทุกสรรพสิ่งเกิดขึ้นมาได้อย่างไร? (Stephen Hawking)
  • ในวันที่คุณตาย คุณอยากให้คนที่มางานศพพูดถึงตัวคุณว่าอย่างไร? (Ikigai Concept)

ถ้าหากว่าคุณได้อะไรซักอย่างจากการไตร่ตรองคำถามข้างบนแล้วล่ะก็ หวังว่านั่นจะเป็นประโยชน์มหาศาลให้สำหรับคุณ และอย่างน้อยๆก็จะทำให้คุณเห็นถึงพลังของการตั้งคำถาม เพราะอย่างที่บอกมันไม่ใช่แค่ถามเพื่อเอาไปใช้กับการงาน, การวิจัย, หรือการพยายามเสาะหาความจริงเท่านั้น เรายังมักใช้คำถามเพื่อพาตัวเองก้าวไปยังจุดที่เหนือกว่าจุดที่กำลังยืนอยู่ ณ ปัจจุบันด้วย

วันนึงความขี้สงสัยในอาจจะเป็น Soft Skill สำคัญที่คนทั่วโลกต่างใฝ่หาและฝึกฝนให้กับตัวเองก็ได้ ความขี้สงสัยที่จะพาเราให้เกิดการตั้งคำถามกับทุกสิ่ง ท้าทายความเป็นไปได้ใหม่ๆในจักรวาลที่มีแต่ความคลุมเคลืออันน่าฉงนอย่างไม่มีที่สิ้นสุด แต่หากความขี้สงสัยนั้นจะต้องมาพร้อมกับความเปิดใจ ที่เป็นคู่หูที่ขาดกันไม่ได้ เพราะต่อให้เรามีสิ่งที่อยากรู้มากมายขนาดไหน แต่ถ้าใจไม่เปิดรับในคำตอบ ทุกอย่างก็คงเหมือนเดิม

หวังว่าบทความนี้จะเป็นตัวสะกิดต่อมความกล้าสงสัยให้กับตัวเองที่จะเริ่มตั้งคำถามกับทุกสิ่งให้มากยิ่งขึ้น บางทีคำถามดีๆที่เกิดขึ้นนั้น นอกจากตัวคุณเองที่จะได้เปลี่ยนแปลงแล้ว ประเทศนี้ หรือโลกนี้อาจจะกำลังต้องการคำถามนั้นๆเพื่อหยุดและฉุกคิดเช่นเดียวกันก็ได้

.

.

…แล้วอะไรล่ะ ที่จะเป็นคำถามที่สำคัญที่สุดสำหรับโลกเราในตอนนี้?


ขอบคุณที่เข้ามาอ่านหวังว่าจะได้ประโยชน์กันนะครับ 🙏
ถ้าหากสนใจศึกษาเพิ่ม คุณสามารถดูตัวอย่างการตั้งคำถามที่ดีๆได้ตามนี้เลยครับ

  • อย่าหาว่าน้าสอน ของน้าเน็ก ที่ฉลาดในการตั้งคำถามเพื่อเจาะต้นตอปัญหาของแต่ละคนที่โทรเข้ามาในเวลาที่จำกัด เปิดมุมมองของเราๆมาก
  • The Secert Sauce จากช่อง The Standard ที่ชื่นชมคุณเคนและทีมงานในการเตรียมคำถามในการสัมภาษณ์ได้อย่างลื่นไหลแถมครอบคลุมความอยากรู้ของคนฟังมาก
  • Quora (พันทิปของฝรั่ง) เว็บที่เปิดให้คนมาตั้งคำถามแล้วก็จะมีคนมีความรู้ในหลายๆสาขามาตอบ หลายๆคำถามดีมาก กระชับชัดเจนในประโยคเดียว

🙏✌️☮️

Posted by Chanala Wilangka

กำลังพยายามเป็นนักออกแบบ