How to be a great designer โดย บัวตูม

‘How to be a great designer เราจะเป็นดีไซน์เนอร์ที่ดีได้ยังไง’ ในบล็อกนี้เป็นการสรุปหัวข้อที่ถูกนำหยิบยกมาพูดสำหรับงาน Open House#4 ประสบการณ์ทำงาน และเทคนิคดีไซน์ของ ‘บัวตูม’ งานครั้งนี้จัดที่ Tencent Thailand แถวๆ MRT สุทธิสาร โดยตัวงานจะแบ่งเป็นสองเนื้อหา ประสบการณ์การทำงานของพี่ตูมกับหัวข้อที่กำลังจะอ่านอยู่ตอนนี้ แน่นอนว่าทำไมถึงมีความน่าสนใจในเรื่องนี้ เพราะเราเชื่อว่าหลายๆคนทำเป็นดีไซน์และกำลังฝึกฝน มันก็ดีซิ ที่จะมีไกด์มาชี้ทางว่าสรุปแล้วถ้าเราอยากจะพัฒนาตัวเองในด้านนี้ เราควรจะต้องสนใจหรือฝึกฝนอะไรเป็นพิเศษบ้าง การงมให้ถูกทางมันน่าจะประหยัดเวลาในการพัฒนาตัวเองได้เยอะแน่ๆ

โดย คุณบัวตูม Buatoom.com dribbble.com/buatoomตัวขิงในวงการดีไซน์เป็นดีไซน์เนอร์ที่เชี่ยวชาญด้าน Ui และ Graphic Elements ต่างๆเป็นหลัก ผ่านการทำงานมาหลายที่และผ่านงานของบริษัทยักษ์ๆมาแบบบานแบะ เช่น Unity, Youtube, Adobe, Google, Facebook ซึ่งในไทยหาตัวจับยากมากๆ เพราะเขาทำงานต่างประเทศบ่อย(ไม่มุข)


1. TASTE / ฝึกความเฉียบของสายตา

หมายถึงการมองภาพแล้วรู้ว่างานนั้นๆมันคืองานที่ดีหรือไม่ เพราะการฝึกตาคือการฝึกที่ยากที่สุด ก่อนที่เราจะทำงานที่ดีได้เราต้องรู้ก่อนว่าอะไรคืองานที่ดี ซึ่งการฝึกตานี้เป็นอะไรที่นานมาก มันไม่ใช่แค่ดูงานแล้วจบ มันต้องไปรู้ถึงเรื่องสี เรื่องการจัดวาง Fundamental เรื่องต่างๆเยอะมาก นอกจากนั้นถ้าในเชิงงาน UI Design เราก็ต้องรู้อีกว่า Usability ที่ดีคืออะไรต่อไปอีกด้วย ฉะนั้นอย่ามัวทำแต่งานตัวเองให้ดูงานคนอื่นที่เก่งๆเสพเยอะๆตามโลกให้ทันเพราะ Taste มันเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ดูแล้วดูให้ลึกศึกษาโครงสร้างของมันด้วย

2. COPY / ลอกเลียน เพื่อเรียนรู้

การก๊อปปี้มันร้ายแรง ถ้าเราก๊อปแล้วเอาไปใช้โต้งๆหรือเอาไปใช้ไปขายเลยมันผิด แต่ถ้าเราก๊อปเพื่อจะเรียนรู้ว่าเขามีวิธีคิดยังไง ทำไมถึงทำแบบนั้นได้ ที่มาที่ไปของมันคืออะไร อันนี้ได้คุณค่า ซึ่งวิธีนี้เราจะเรียนรู้ได้เร็วมากๆ เร็วกว่าการที่เราลอกผิดลองถูกเอง งานไหนดีก็ลอกเพื่อให้รู้วิธีการทำ

great design

3. NO SHORTCUTS / คนจะเก่งไม่ใช่เพราะทางลัด

มันไม่มีอะไรหรอกที่จิ้มปึ๊บแล้วออกมาเป็นงานที่เราชอบเลย สุดท้ายคุณก็ต้องนั่งทำมันอยู่ดี เพราะมันไม่มีทางลัดสำหรับความงาม เทคโนโลยีมันแค่ช่วยเรา แต่มันไม่ได้ทำให้งานเราเสร็จในรวดเดียว เพราะในการดีไซน์ต้องอาศัยความปราณีต ค่อยๆทำ แต่ละส่วนมันมีความละเอียดหรือศาสตร์ของมันในตัว ต้องอาศัยการฝึกฝนและอดทนทำบ่อยๆ

4. BASIC / ต้นไม้โตเพราะมีรากที่ดี

ถ้าคุณต้องการที่จะขึ้นไปถึงจุดนึงได้ พื้นฐานสำคัญมากๆ การที่คุณจะเตะบอลให้เก่งได้คุณก็ต้องฝึกทักษะฝึกเบสิคของการเล่นบอลบ่อยๆ แล้วเบสิคที่ดีคืออะไร? ก็ต้องกลับไปที่ Fundamental อีกนั้นแหละเช่น สี, Composition, Element oblique, แสงเงา อะไรประมาณนี้ ถ้าสมมติคุณทำ UI แบบ Skeuomorphism หรือแบบสมจริงได้คล่อง แล้วยิ่งคุณจะมาทำแบบ Flat บ้างก็ง่ายมากๆเพราะคุณรู้เบสิคต่างๆอยู่แล้ว จะปรับใช้ยังไงก็ได้

5. DETAILS / พระเจ้าอยู่ในรายละเอียด

ทุกอย่างมันวัดกันด้วยรายละเอียด เช่นปุ่มเล็กๆแค่ต่างกันเรื่องเงาก็มีผลกระทบต่อความรู้สึกของคนกดแล้ว ซึ่งถ้าไม่ใส่ใจในรายละเอียดล่ะก็ลืมไปเลยว่าจะเก่ง ต้องเป็นคนที่สน Details มากๆ …ถ้าเราทำเป็นไม่สนใจ คนที่รู้ก็คือ User หรือผู้ใช้งานที่รู้ภาพรวมของสิ่งที่เขากำลังใช้ เขาจะรู้ว่าอันไหนดีหรือแย่ แต่เขาจะไม่รู้หรอกว่าดีหรือแย่ตรงไหน เราจึงต้องเป็นคนที่จัดการตรงนี้ให้ User มองงานเราว่ามันดีมันแย่ มันธรรมดาหรือมันล้ำ ทุกอย่างวัดกันที่รายละเอียด

6. WORKSPACE / พื้นที่ในการสร้างงานมีผลต่องาน

อย่าปล่อยปละละเลยกับความมีระเบียบในพื้นที่ทำงาน เพราะมันจะส่งผลต่อเนื้องาน และพยายามทำตัวคุณให้มีระเบียบให้ได้ เพราะเมื่อไหร่ตัวคุณมีระเบียบงานคุณก็มีระเบียบ เช่นถ้าเราสนใจเรื่องระเบียบความกริ๊บของสถานที่หรือสิ่งของในชีวิตประจำวัน พอในงานของคุณ คุณก็จะมีการมองและแนวคิดการจัดการในระบบ Grid ที่ดีไปโดยธรรมชาติ

workspace for designer
craftfig.co

7. TRAVEL / พักยกเพื่อหาไอเดีย

บางครั้งถ้าเราตั้งใจอย่างเดียว จะบีบเค้นงานให้ออกมาให้ได้บางครั้งมันไม่ออกมาให้หรอก ต้องละตาจากงานบ้างไปนั่งมองนู้นมองนี้เดินไปนู้นนี่บ้าง ถ้าและยิ่งได้ไปในที่ที่แตกต่าง ได้เป็นเห็นอะไรที่มันมีมากกว่าที่ชีวิตประจำวันได้เจอก็ยิ่งดีขึ้นไปอีก เผื่อเวลาให้ตัวเองได้พักบ้างเพราะมันจะช่วยเปิดมุมมองทางความคิดให้ออกจากจุดเดิม แถมเป็นการเรียนรู้อีกเชิงนึงด้วย

8. TRAP / กับดักแห่งความสำเร็จ

เมื่อที่เราทำงานโดยโฟกัสไปที่เงิน และยิ่งในเวลาที่เริ่มต้นทำงานใหม่ๆ คุณใจเลยว่าคุณจะไม่เก่งแน่ๆ เพราะเมื่อไหร่ที่มีเงินเข้ามาเกี่ยวข้อง คุณจะต้องเร็วแล้วคุณจะเผางานเพราะเป้าหมายคุณคือการได้เงิน แต่ถ้าคุณไม่สนเรื่องนี้คุณทำงานเพราะอยากทำงาน คุณฝึกฝนงานของคุณเองจนสุดท้ายจะมีคนมาเห็นคุณค่า เวลาถูกจ้างงานเขาก็จะบอก ‘ของานแบบคุณนะ’ มันโคตรจะแฮปปี้และคุณจะมันส์กับการทำงานแบบคุณ

9. BE POSITIVE / คิดบวกและฟังเสียงคนอื่นบ้าง

มีหลายครั้งที่เราทำงานไปให้คนหลายๆแผนกดู พอเวลาเขาตบคอมเม้นต์กลับมาเราโกรธมากในตอนแรก แต่พอเราทำตามที่เขาแนะนำมาแล้วก็ตีกลับไปกลับมา สุดท้ายมันออกมาเป็นงานที่ดีมากและเป็นงานที่โอเคกับทุกๆฝ่าย อย่าคิดว่าใครก็มาคอมเม้นต์งานเราไม่ได้ ทุกคอมเม้นต์มีประโยชน์

10. LEARN FROM OTHERS / เรียนรู้จากผู้อื่น

มันไม่จำเป็นว่าเราเป็นดีไซน์เนอร์แล้วเราต้องเรียนรู้แต่กับดีไซน์เนอร์ เราสามารถเรียนรู้กับใครก็ได้ Business, UX designer หรือใครก็ได้เพราะแต่ละส่วนจะมาเชื่อมโยงและปรับใช้กับงานดีไซน์เราเองได้ เราจะสามารถปรับแต่งงานเราให้เข้ากับใครๆก็ได้ เมื่อไหร่ที่ทำตรงนี้ได้มันถึงจะมีค่า

11. BE FAIR AND REASONABLE / ใจเขาใจเรา

ความแฟร์มันทำให้เราอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข ไม่ว่าคุณจะตำแหน่งสูงแค่ไหนคุณต้องดูว่าอะไรมันแฟร์หรือไม่แฟร์ มันจะทำให้การอยู่ร่วมกันเป็นไปด้วยดีมากยิ่งขึ้นทั้งองค์กรเล็กใหญ่หรือที่ไหนก็ตาม

12. RESPONSIBLE / แค่รับผิดชอบ

เมื่อไหร่ที่เรามีความรับผิดชอบ ความติสแตกในตัวของดีไซน์เนอร์ก็จะถูกจำกัดอยู่ในที่ถูกที่ควรเราจะไปเดินชมนกชมไม้ในเวลาที่ถูกที่ควร ได้งานมาก็จัดการให้ตรงกำหนด ให้มีความรับผิดชอบต่องานต่อไทม์ไลน์ให้มากๆเพราะมันเป็นเรื่องสำคัญสุดๆ


icon design
craftfig.co

เก็บตก

Q: ช่วงที่ฝึก Copy งานพี่บัวตูมฝึกจากอะไร?
A: CreativedashSuperSILO หรือคนอื่นๆที่เป็นตัวท็อปๆ ถ้ายิ่งเสพย์เยอะก็จะรู้ว่าเราควรจะตามงานใครดี

Q: UI ควรควบคู่ไปกับอะไรหรือเปล่าหรือควรสุดโต้งทางนี้เลย?
A: ต้องควบคู่กับสิ่งอื่นด้วย ไม่ว่าจะเทคโนโลยี, Art, UX, Business อะไรก็ได้ เพราะเวลาที่ทำดีไซน์มันต้อง Functional ต้องใช้งานได้ต้องถูก Flow

Q: เวลารับงานมาแล้ว มีวิธีการเริ่มคิดงานยังไง?
A: การจดโน็ตแบบไร้สาระก็ช่วยได้เยอะ แล้วค่อยจับสิ่งต่างๆมาทำ Mind map → Flowchart→ Wireframe

Q: เรามีวิธีคิดการตีราคางานของเรายังไง?
A: มันมีระบบงานๆที่เรียกว่า Man-hour มันเป็นการวิเคราะห์ตัวเองก่อนว่าเราอยู่ในระดับไหน การที่จะรู้ว่าเราอยู่ระดับไหนเราจะใช้วิธีเทียบเคียงกับคนอื่นว่างานแบบนี้คนอื่นใช้ราคาระดับไหน เราจะได้ ราคางาน/ชั่วโมง ของเราเองมา แล้วก็กลับมามองงานตัวที่เราทำว่าเราใช้เวลากี่ชั่วโมงในการทำ แต่ก็ยังมีปัจจัยอื่นมาทำการคำนวณเช่นความใหญ่โตขององค์กร แต่พยายาม Base จากตัวเองจะง่ายที่สุด


น่าจะเป็นความรู้ดีๆที่น่าเอาไปใช้กันนะครับ ขอบคุณพี่บัวตูม buatoom.com มากๆและบริษัท Tencent Thailand ที่จัดงานแบบนี้ ติดตามงานต่อๆไปได้ที่ www.facebook.com/TencentTHOpenHouse ฮะ

อ่านอะไรต่อดี
How to pretend you’re a great designer
Why a great designer is more than “just” a designer
Everyone is a designer. Get over it.

Posted by
Chanala Wilangka

กำลังพยายามเป็นนักออกแบบ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *