ปัญหาที่ไร้สูตรสำเร็จ ‘Wicked Problem’

wicked problem

อะไรต้นตอของปัญหาที่น่าปวดหัวบนโลกนี้?

ตอนเด็กๆ เราอาจจะเคยแก้โจทย์เลขได้ถ้าซ้อมมาพอ หรือ ถ้ามือถือเราพังเราก็ส่งซ่อม และถึงแม้ตอนเราป่วยหนัก หมอก็จะให้ยาหรือไม่ก็ผ่าตัดรักษาเราได้อยู่ดี …ไม่ว่าปัญหาเหล่านี้จะยากหรือง่ายยังไง มันจะสามารถถูกแก้ไขได้ด้วยความรู้และประสบการณ์ว่าถ้าเจอแบบนี้ ควรจะแก้แบบไหนได้ในที่สุด

ปัญหาโดยทั่วไปเราสามารถใช้แพทเทิร์นความรู้ กระบวนการคิด หรือขั้นตอนในการแก้ปัญหาแบบเดิมๆ ที่เราเคยเรียนรู้มาเพื่อใช้แก้ไขมันได้ รูปแบบปัญหาเหล่านี้ เราเรียกมันว่า ‘Tame Problem’ หรือปัญหาที่มีสูตรสำเร็จตายตัว (หรือชื่อทางการๆ เรียกว่า ‘ปัญหาเชื่อง’) ซึ่งบางครั้งอาจจะแก้ยากซักหน่อย แต่เราก็สามารถมองเห็นต้นตอมันได้อย่างชัดเจน และ สุดท้ายก็จะมีวิธีแก้ไขมัน (Solution) ออกมาในที่สุด

แต่ในโลกนี้ยังมีปัญหาซับซ้อนที่ทั้งน่าปวดหัวและน่าสนใจ ถูกเรียกว่า ‘Wicked Problem’ หรือ ปัญหาที่ไร้สูตรสำเร็จ (มีชื่อทางการว่า ‘ปัญหาพยศ’) ที่จะมีลักษณะเฉพาะตัวคือ มีความคลุมเครือสูง หาต้นตอของปัญหาที่ชัดเจนยาก และ ไม่มีทางออกสุดท้ายที่แน่ชัด ไม้ตายของมันคือยิ่งเราขุดลงไปลึกถึงรากมันเท่าไหร่ ก็ยิ่งเจออีกปัญหาที่ซับซ้อนพอๆกับตัวมันเองพันอีรุงตุงนังกันเต็มไปหมด

Wicked Problem ปัญหาที่ไร้สูตรสำเร็จ’

Social Problem - Wicked Problem

ปัญหาสังคม, ปัญหาการโกงกิน, ปัญหาสิ่งแวดล้อม, ปัญหายาเสพติด และ อีกมากมาย ส่วนใหญ่จะเป็นปัญหาที่ Impact โลกทั้งนั้น หรือตัวอย่างที่เห็นได้ชัดมากๆ คือปัญหาเรื่องการศึกษา ที่ถ้าเราขุดไปจะพบกับความซับซ้อนอีกมากมายตั้งแต่เรื่องชุมชน, ครอบครัว, เศรษฐกิจ, ท้องก่อนวัย, การคมนาคม, นโยบาย และ นู้นนี่นั้น ที่ชวนให้นักแก้ปัญหาต้องปาดเหงือกันไปตามๆกัน

 Horst Rittel และ Melvin Webber นักทฤษฎีการออกแบบในช่วงปี 1973 ผู้บัญญัติคำว่า ‘Wicked Problem’ และได้นิยามลักษณะของ Wicked Problem ทั้ง 10 ข้อ ไว้ด้วยกัน

  1. เป็นปัญหาที่ไม่มีวิธีแก้แบบสูตรสำเร็จ
  2. ระบุไม่ได้ว่าจุดสิ้นสุดของปัญหาจะอยู่ตรงไหน มีแต่ลองทำแล้วปรับให้ดีขึ้นไปเรื่อยๆ
  3. ผลลัพธ์ของการแก้ปัญหาคือ ไม่ดีขึ้นก็แย่ลง แต่อาจจะไม่ได้หายขาด
  4. ไม่มีวิธีทดสอบ Solution แบบเห็นผลทันทีในปัญหาที่เป็น Wicked Problem
  5. ไม่สามารถศึกษาผ่านการลองผิดลองถูกได้ ส่วนใหญ่จะเป็นการลองทำจริงแบบเปรี้ยงเดียวให้แม่นๆ การลองทุกครั้งจึงสำคัญมาก
  6. ไม่มีจำนวนที่ตายตัวสำหรับวิธีที่จะใช้แก้ปัญหาที่เป็น Wicked Problem
  7. ทุกๆปัญหา จะมีลักษณะเฉพาะตัวที่แตกต่างกันไป
  8. ทุกๆ Wicked Problem จะเป็นเหตุของ Wicked Problem อื่นๆเสมอ
  9. เป็นปัญหาที่มองได้หลายมุม ตีความได้หลายอย่าง ขึ้นอยู่กับแต่ละคนจะมอง
  10. นักวางแผน และ นักออกแบบ จะผิดพลาดไม่ได้และต้องรับผิดชอบต่อสิ่งที่เกิดขึ้นด้วย

และด้วยกฏ ‘ทุกๆ Wicked Problem จะเป็นเหตุของ Wicked Problem อื่นๆเสมอ’ ทำให้เราเห็นว่า ไม่ว่า Wicked Problem นั้นจะเป็นอะไร สาเหตุหลักที่เป็นต้นตอของปัญหาเหล่านี้ ก็ถูกสร้างขึ้นจากมนุษย์ผู้นำพาความยุ่งเหยิงมาสู่ตัวเองอย่าปฏิเสธไม่ได้

.
.

แต่ถึงจะน่าปวดตุบที่ขมับ กับปัญหาที่ไร้สูตรสำเร็จ อย่าง Wicked Problem นี้ยังไงก็ตาม เราปฏิเสธไม่ได้ว่านี่คือเมล็ดพันธุ์ที่ก่อให้เกิดแนวคิด กระบวนการที่พยายามแก้ปัญหาที่ซับซ้อนเหล่านี้ขึ้นมาเพื่อท้าทายความไม่แน่นอน และสร้าง Impact ที่จะเกิดขึ้นต่อโลกเมื่อปัญหาเหล่านี้ค่อยๆถูกคลี่คลาย

เพราะหนึ่งในวิธีที่ดีที่สุดที่จะแก้ไขปัญหา Wicked Problem นั้นได้ การเริ่มทำความเข้าใจ ค่อยๆซึมซับ และตกผลึกจนออกมาเป็นทางแก้ และ ซึ่งแนวคิดการแก้ปัญหาที่เป็นผลพวงมาจาก Wicked Problem นั้นก็คือ กระบวนการออกแบบ Design Thinking ที่เรารู้จักกันในปัจจุบันนั้นเอง


References

Posted by
Chanala Wilangka

กำลังพยายามเป็นนักออกแบบ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *