อะไรต้นตอของปัญหาที่น่าปวดหัวบนโลกนี้?
ตอนเด็กๆ เราอาจจะเคยแก้โจทย์เลขได้ถ้าซ้อมมาพอ หรือ ถ้ามือถือเราพังเราก็ส่งซ่อม และถึงแม้ตอนเราป่วยหนัก หมอก็จะให้ยาหรือไม่ก็ผ่าตัดรักษาเราได้อยู่ดี …ไม่ว่าปัญหาเหล่านี้จะยากหรือง่ายยังไง มันจะสามารถถูกแก้ไขได้ด้วยความรู้และประสบการณ์ว่าถ้าเจอแบบนี้ ควรจะแก้แบบไหนได้ในที่สุด
ปัญหาโดยทั่วไปเราสามารถใช้แพทเทิร์นความรู้ กระบวนการคิด หรือขั้นตอนในการแก้ปัญหาแบบเดิมๆ ที่เราเคยเรียนรู้มาเพื่อใช้แก้ไขมันได้ รูปแบบปัญหาเหล่านี้ เราเรียกมันว่า ‘Tame Problem’ หรือปัญหาที่มีสูตรสำเร็จตายตัว (หรือชื่อทางการๆ เรียกว่า ‘ปัญหาเชื่อง’) ซึ่งบางครั้งอาจจะแก้ยากซักหน่อย แต่เราก็สามารถมองเห็นต้นตอมันได้อย่างชัดเจน และ สุดท้ายก็จะมีวิธีแก้ไขมัน (Solution) ออกมาในที่สุด
แต่ในโลกนี้ยังมีปัญหาซับซ้อนที่ทั้งน่าปวดหัวและน่าสนใจ ถูกเรียกว่า ‘Wicked Problem’ หรือ ปัญหาที่ไร้สูตรสำเร็จ (มีชื่อทางการว่า ‘ปัญหาพยศ’) ที่จะมีลักษณะเฉพาะตัวคือ มีความคลุมเครือสูง หาต้นตอของปัญหาที่ชัดเจนยาก และ ไม่มีทางออกสุดท้ายที่แน่ชัด ไม้ตายของมันคือยิ่งเราขุดลงไปลึกถึงรากมันเท่าไหร่ ก็ยิ่งเจออีกปัญหาที่ซับซ้อนพอๆกับตัวมันเองพันอีรุงตุงนังกันเต็มไปหมด
‘Wicked Problem ปัญหาที่ไร้สูตรสำเร็จ’
ปัญหาสังคม, ปัญหาการโกงกิน, ปัญหาสิ่งแวดล้อม, ปัญหายาเสพติด และ อีกมากมาย ส่วนใหญ่จะเป็นปัญหาที่ Impact โลกทั้งนั้น หรือตัวอย่างที่เห็นได้ชัดมากๆ คือปัญหาเรื่องการศึกษา ที่ถ้าเราขุดไปจะพบกับความซับซ้อนอีกมากมายตั้งแต่เรื่องชุมชน, ครอบครัว, เศรษฐกิจ, ท้องก่อนวัย, การคมนาคม, นโยบาย และ นู้นนี่นั้น ที่ชวนให้นักแก้ปัญหาต้องปาดเหงือกันไปตามๆกัน
Horst Rittel และ Melvin Webber นักทฤษฎีการออกแบบในช่วงปี 1973 ผู้บัญญัติคำว่า ‘Wicked Problem’ และได้นิยามลักษณะของ Wicked Problem ทั้ง 10 ข้อ ไว้ด้วยกัน
- เป็นปัญหาที่ไม่มีวิธีแก้แบบสูตรสำเร็จ
- ระบุไม่ได้ว่าจุดสิ้นสุดของปัญหาจะอยู่ตรงไหน มีแต่ลองทำแล้วปรับให้ดีขึ้นไปเรื่อยๆ
- ผลลัพธ์ของการแก้ปัญหาคือ ไม่ดีขึ้นก็แย่ลง แต่อาจจะไม่ได้หายขาด
- ไม่มีวิธีทดสอบ Solution แบบเห็นผลทันทีในปัญหาที่เป็น Wicked Problem
- ไม่สามารถศึกษาผ่านการลองผิดลองถูกได้ ส่วนใหญ่จะเป็นการลองทำจริงแบบเปรี้ยงเดียวให้แม่นๆ การลองทุกครั้งจึงสำคัญมาก
- ไม่มีจำนวนที่ตายตัวสำหรับวิธีที่จะใช้แก้ปัญหาที่เป็น Wicked Problem
- ทุกๆปัญหา จะมีลักษณะเฉพาะตัวที่แตกต่างกันไป
- ทุกๆ Wicked Problem จะเป็นเหตุของ Wicked Problem อื่นๆเสมอ
- เป็นปัญหาที่มองได้หลายมุม ตีความได้หลายอย่าง ขึ้นอยู่กับแต่ละคนจะมอง
- นักวางแผน และ นักออกแบบ จะผิดพลาดไม่ได้และต้องรับผิดชอบต่อสิ่งที่เกิดขึ้นด้วย
และด้วยกฏ ‘ทุกๆ Wicked Problem จะเป็นเหตุของ Wicked Problem อื่นๆเสมอ’ ทำให้เราเห็นว่า ไม่ว่า Wicked Problem นั้นจะเป็นอะไร สาเหตุหลักที่เป็นต้นตอของปัญหาเหล่านี้ ก็ถูกสร้างขึ้นจากมนุษย์ผู้นำพาความยุ่งเหยิงมาสู่ตัวเองอย่าปฏิเสธไม่ได้
.
.
แต่ถึงจะน่าปวดตุบที่ขมับ กับปัญหาที่ไร้สูตรสำเร็จ อย่าง Wicked Problem นี้ยังไงก็ตาม เราปฏิเสธไม่ได้ว่านี่คือเมล็ดพันธุ์ที่ก่อให้เกิดแนวคิด กระบวนการที่พยายามแก้ปัญหาที่ซับซ้อนเหล่านี้ขึ้นมาเพื่อท้าทายความไม่แน่นอน และสร้าง Impact ที่จะเกิดขึ้นต่อโลกเมื่อปัญหาเหล่านี้ค่อยๆถูกคลี่คลาย
เพราะหนึ่งในวิธีที่ดีที่สุดที่จะแก้ไขปัญหา Wicked Problem นั้นได้ การเริ่มทำความเข้าใจ ค่อยๆซึมซับ และตกผลึกจนออกมาเป็นทางแก้ และ ซึ่งแนวคิดการแก้ปัญหาที่เป็นผลพวงมาจาก Wicked Problem นั้นก็คือ กระบวนการออกแบบ Design Thinking ที่เรารู้จักกันในปัจจุบันนั้นเอง
References
- Stony Brook University, What’s a Wicked Problem?, stonybrook.edu, 2018 [cited 2022 Mar 01], Available from https://www.stonybrook.edu/commcms/wicked-problem/about/What-is-a-wicked-problem
- Austin Center for Design, Wicked Problems, wickedproblems.com, 2018 [cited 2022 Feb 28], Available from https://www.wickedproblems.com/1_wicked_problems.php
- Dr.Vithaya Suharitdamrong ,รื้อกระสอบทราย บิ๊กแบค เปิดประตูน้ำ และภัยพิบัติที่ไม่ใช่แค่ภัยธรรมชาติ คือ ปัญหาพยศ (Wicked Problems), drvithaya.blogspot.com, 2018 [cited 2022 Feb 28], Available from http://drvithaya.blogspot.com/2011/11/perspectives-12-wicked-problems.html